วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โรคเสี่ยง! ของเด็กยุคดิจิตอล

โรคเสี่ยง! ของเด็กยุคดิจิตอล
เทคโนโลยีเมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่า ผลกระทบจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอแพด ช่วงวัยที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ วัยเด็ก ยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากดังนี้ค่ะ
แม่และเด็ก



เจ้าหนูกับการดูโทรทัศน์


ช่วง 1-3 ปี

การที่เด็กนั่งดูโทรทัศน์นาน ๆ เด็กจะขาดทักษะการใช้กล้ามเนื้อที่กำลังเจริญเติบโต เด็กวัยนี้เป็นวัยที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ฉะนั้น ถ้าใช้เวลาในการนั่งดูโทรทัศน์นาน ๆ จะไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ ซ้ำร้ายโทรทัศน์ยังทำลายศูนย์รวมความสนใจของเด็กอีกด้วย ขบวนการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ๆ จะฝึกการเรียนรู้จากการลงมือกระทำ จากการเลียนแบบสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเขา เด็กที่ดูโทรทัศน์จะไม่ได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ

ช่วง 3-5 ปี

เป็นช่วงเวลาที่เด็กพัฒนาอารมณ์ความรู้สึก จิตใจ และจังหวะการหายใจ หากเด็กติดโทรทัศน์จะส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจของเด็ก เพราะภาพมีความเร็วเกินไป เมื่อระบบการหายใจของเด็กติดขัดจะนำผลไปสู่อารมณ์ความรู้สึกและจิตใจของเด็ก ทำให้เกิดความก้าวร้าว การเล่นที่รุนแรง แล้วยังกระทบต่อสุขภาพของเด็กดังนี้ค่ะ


โทรทัศน์กับพัฒนาการทางสมอง
สำหรับเด็กเล็กโทรทัศน์มีรังสีที่มีผลเสียต่อสายตา ในขณะที่จอรับภาพทางประสาทตาของเด็กเล็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้สายตาของเด็กก่อนขวบปีจะเห็นภาพและสีต่าง ๆ ได้อย่างลางเลือน และเหมือนคนสายตาสั้น คือ เด็กอายุเดือนแรกจะมองเห็นแต่สีขาวและดำในระยะ 12-15 นิ้วนานไม่เกิน 5 วินาที เด็กอายุ 2 เดือนมองเห็นสิ่งของและสีแดง สีเขียว สีเหลือง ได้ชัดเจนในระยะไม่เกิน 20 นิ้ว และอายุ 3 เดือน มองเห็นชัดเจนในระยะ 1 ฟุต

การให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์จะได้รับแสงที่มากเกินไปจะส่งผลต่อสายตา เช่น ระบบประสาท การปรับแสงของเลนส์ตา กล้ามเนื้อตาเกร็ง สายตาสั้น เป็นต้น และอาจทำให้ดวงตาเกิดการเหนื่อยล้าและเสียเร็วขึ้นได้ เมื่อเด็กอยู่ในวัยที่เริ่มดูโทรทัศน์ได้ 2-3 ปีไม่เกิน 15 นาที, 3-5 ปีไม่เกิน 30 นาที และ 6-8 ปี ไม่เกิน 1 ชั่วโมง

โทรทัศน์จะกระตุ้นสมองส่วนเล็ก ๆ ส่วนหน้า เป็นการรับรู้ข้อมูลโดยปราศจากการวิเคราะห์อย่างตระหนักรู้ความเร็วของภาพที่เร็วเกินไปจะทำให้เซลล์สมองของเด็กรับภาพแล้วถูกตัดทิ้ง หากดูเกิน 20 นาที ประสาทหู และตาจะล้า

การดูโทรทัศน์เป็นการใช้สมองซีกขวามากเกินไป ในสมองเด็กที่กำลังพัฒนาต้องมีการเปลี่ยนถ่ายจากซีกขวาที่ไม่มีคำพูดมีภาวะฝันไปสู่ซีกซ้ายที่ใช้ตรรกะคำพูด ทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการอ่านวิเคราะห์และการฟังแบบเชื่อมโยง โทรทัศน์ไม่มีสิ่งกระตุ้นให้เด็กได้พูดโต้ตอบ มีเพียงภาพและเสียงที่ผ่านลำโพง ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว (One-way Communication) ทำให้เด็กไม่ได้พูดโต้ตอบด้วย เด็กที่ติดโทรทัศน์มากเกินไปอาจส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาช้า เนื่องจากไม่ได้มีความจำเป็นที่จะโต้ตอบทางภาษา เด็กวัยนี้ยังต้องเรียนรู้ผ่านการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา


สุขภาพเจ้าหนูกับโทรศัพท์มือถือ
เด็ก ๆ กับโทรศัพท์มือถือที่ต้องแนบหูนั้น แบตเตอรี่เกิดความร้อน ส่งผลให้หูและศีรษะสัมผัสความร้อนโดยตรง จะทำให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากการรับ-ส่งสัญญาณของโทรศัพท์มือถือกระทบกับอวัยวะโดยตรงทั้งบริเวณ หู ตา และเข้าไปถึงสมองส่งผลให้เกิดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื้ออ่อน ๆ ในบริเวณนั้นได้


สุขภาพเจ้าหนูยุคคอมพิวเตอร์+ไอแพด
นอกจากผลเสียทางสายตาแล้ว ยังมีอาการท้องร่วงเพราะคีย์บอร์ด สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง คือ คีย์บอร์ดมักมีแบคทีเรียสะสมอยู่ เมื่อเด็ก ๆ เล่นคอมพิวเตอร์ อาจจะหยิบอาหารกินระหว่างอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีคีย์บอร์ดตั้งอยู่ แบคทีเรียเหล่านี้อาจจะเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้


ผลกระทบในระยะสั้น โรคเกี่ยวกับการปวด
เช่น อาการปวดหู ปวดศีรษะ มึนงง ขาดสมาธิ และเครียด เนื่องจากระบบพลังงานในร่างกายถูกรบกวน


โรคเกี่ยวกับดวงตา
การจ้องหน้าจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เป็นเวลานานเกินกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน จะทำให้ตาขาดน้ำหล่อเลี้ยงเกิดอาการระคายเคืองได้ และอาการได้ตามมา คือ ตาพร่าและมองไม่เห็นชั่วคราว ระบบประสาท การปรับแสงของเลนส์ตากล้ามเนื้อตาเกร็ง สายตาสั้น เพราะกล้ามเนื้อตาจะบีบรัดเลนส์ตาจนล้า ถ้าระดับที่วางความสว่างไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อระบบของการกลอกตา ระบบกล้ามเนื้อและประสาท ซึ่งจะเกิดหลังจากใช้สายตานานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการดวงตาล้า ดวงตาตึงเครียด ตาช้ำ ตาแดง แสบ

สำหรับเด็กเล็กรังสีที่มาจากจอโทรทัศน์ มีผลเสียต่อสายตา เพราะจอรับภาพทางประสาทตาของเด็กเล็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้สายตาของเด็กก่อนขวบปีจะเห็นภาพและสีต่าง ๆ ได้อย่างลางเลือน และเหมือนคนสายตาสั้น


ผลกระทบในระยะยาว สมาธิสั้น
เด็กในวัยแรกเกิด ถึง 6 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการของเด็ก ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การกระตุ้นโดยพ่อแม่เป็นผู้สอน ดังนั้นการที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์นาน ๆ จะทำให้เด็กไม่มีพัฒนาการสมวัย และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมาธิสั้น เด็กมีสมาธิ และความจดจ่อแย่ลง จนอาจทำให้เกิดโรคความจดจ่อเสื่อมหรือสมาธิสั้น


โรคอ้วนและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
การดูทีวีมาก ๆ สัมพันธ์กับโรคอ้วนและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เนื่องจากการนั่งอยู่กับที่นาน ๆ การกินของขบเคี้ยวระหว่างดูทีวี และโรคอ้วนในเด็กจะมีแนวโน้มทำให้เป็นผู้ใหญ่อ้วนหรือเกิดโรคหลายโรค เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็งในลำไส้ มะเร็งเต้านม ปวดหลัง ตามมาอีก


ภาวะ "เคาช์โปเตโต้" (couch potato)
เด็กที่เอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ ดูโทรทัศน์ วิดีโอ หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ไม่เคลื่อนไหวทำกิจกรรม ทำให้เป็นโรคอ้วน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดจากภาวะเคาช์โปเตโต้ ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เด็ก ๆ ไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมง เล่นเกมหรือดูทีวี เด็กเล็กไม่เกิน 30 นาที


Tips : คุณพ่อคุณแม่พาไปเรียนรู้ธรรมชาตินอกบ้าน สวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น ที่สำคัญจำกัดช่วงเวลาการดูทีวี การใช้คอมพิวเตอร์และส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายก็จะช่วยให้สมองของลูกรักได้มีการเรียนรู้อย่างสมดุลและป้องกันผลเสียกับสุขภาพของเด็ก ๆ ด้วยค่ะ
ที่มา :
Vol.8 No.89 พฤษภาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น