หนูซน . . .หรือไฮเปอร์กันแน่ ??
เอ๋…ลูกเราเข้าข่ายเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือเปล่าเนี่ย ?
ทำไมลูกเราซนเหลือเกิน สงสัยเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือเปล่า ?
คำถามที่พบบ่อยไม่ว่าผ่านมากี่ยุคกี่สมัย เพราะเด็กอย่างไร…ก็มีลุคแสนซน แก่นเซี้ยวสุดๆ อยู่เสมอ หลังๆ ชักออกแนวเฮี้ยนบ้าง (เรียกว่า ซนซะจน…พ่อจ๋าแม่จ๋าอ่อนอกอ่อนใจ) จนทำให้ผู้เป็นพ่อและแม่กังวลใจ…ไหง! ลิงบ้านเรามันซนจริงๆ
เมื่อก่อนคำว่า “โรคสมาธิสั้น” อาจจะไม่คุ้นเคยเท่ายุคปัจจุบัน สมัยก่อนเวลาเด็กซนผู้ใหญ่ก็มักชื่นชมว่า เด็กซนคือเด็กฉลาด แต่ในยุคนี้พอมีคำว่า “โรคซนสมาธิสั้น” ภาษาแพทย์เรียกว่า Attention Deficit Hyperative Disorders (ADHD) หรือบ้านเรานิยมเรียกว่า โรคเด็กไฮเปอร์ พอได้ยินบ่อยๆ ขึ้นก็ชักรู้สึกวูบวาบซะแล้ว เพราะกลัวเหลือเกินว่าจอมซ่าที่บ้าน อาจจะเข้าข่ายอยู่ก็ได้
ก่อนอื่นเราต้องมาแยกกันก่อนค่ะ เดี๋ยวจะพางงทั้งคนอ่าน และคนเขียนอย่างอิฉัน ซึ่งอาการสมาธิสั้น ลักษณะอาการจะคาบเกี่ยวระหว่าง ความเป็นเด็กซน และเด็กที่มีภาวะบกพร่องสมาธิสั้นจริงๆ ไม่ใช่เพียงความคาบเกี่ยวระหว่างเด็กซนเท่านั้น แต่ก็มีส่วนคาบเกี่ยวกับ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gitted) ซึ่งบางครั้งก็ถูกพาไปพบหมอด้วยอาการคล้ายๆ ว่า สมาธิสั้นเช่นกันค่ะ เพราะบางทีเราก็เกิดเข้าใจผิดและสับสนในพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งของเด็กเหมือนกัน
นอกจากนี้แล้ว อาการสมาธิสั้นยังเป็นอาการที่พบในเด็กที่มีภาวะออทิสซึม แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นต้องเป็นออทิสติกนะคะ
อาการที่สำคัญของเด็กกลุ่มสมาธิสั้นแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. อาการซนมากกว่าปกติ (Hyper Activity) ลักษณะความซนจะมากกว่าเด็กทั่วๆไป ซนแบบ ไม่อยู่นิ่ง อยู่ไม่เป็นสุข ลุกลี้ลุกลน ตลอดเวลา แม้แต่การเล่นก็มักเล่นไม่จบ
2. มีความวอกแวกง่าย แม้แต่สิ่งเร้าเล็กน้อยก็สามารถทำให้เสียสมาธิได้แล้ว นอกจากนั้นยังแสดงออกในรูปของการทำงานไม่ค่อยสำเร็จ เพราะในขณะที่กำลังทำงานอย่างหนึ่งอยู่นั้น ใจก็จะคิดวอกแวกไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ ต่อไป กว่าจะเสร็จได้ต้องใช้เวลานาน ต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไช งานถึงจะสำเร็จลุล่วงไปได้
3. อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsive) เด็กมักจะแสดงออกในลักษณะที่รอคอยไม่เป็น ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่กำลังคุยกันอยู่ เมื่ออยากจะพูดก็จะพูดแทรกขึ้นมาในทันทีโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม หรือให้ช่วยหยิบน้ำมาให้แก้วหนึ่ง ก็จะรีบไปหยิบเอาแต่แก้วมายื่นให้ เหมือนกับยังไม่ทันฟังคำร้องขอให้เสร็จก่อน ก็รีบวิ่งไปก่อนเสียแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อตัวเด็กได้ง่ายอีกด้วยค่ะ
เด็กอาจมีอาการดังกล่าวที่ว่า ครบทั้ง 3 กลุ่มก็ได้ หรือมีลักษณะเด่นร่วมกัน 1-2 อาการ ซึ่งถ้าเราสังเกตลูกว่า เข้าข่ายกลุ่มอาการสมาธิสั้นแล้ว ควรจะพาไปพบจิตแพทย์ เพื่อทำการทดสอบวินิจฉัยให้ชัดเจนแน่นอนก่อน แล้วค่อยไปสู่ขั้นตอนการรักษาต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำการวิจัยสำรวจเด็กไทยในเขตกรุงเทพฯ ในปี 2004 พบว่า มีเด็กในกลุ่มสมาธิสั้นประมาณร้อยละ 5-10 ของเด็กวัยเรียนหรือประมาณ 2-3 คนในห้องเรียนขนาด 50 คน สำหรับในต่างประเทศพบได้ประมาณร้อยละ 3-15 ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศและระบบการศึกษา ส่วนการบำบัดรักษาแบบมาตรฐานนั้น แบ่งเป็น 3 อย่างคือ การบำบัดด้านการศึกษา การบำบัดรักษาด้านจิตวิทยา และพฤติกรรม รวมทั้งการรักษาด้วยยา
ที่มา : แม่และเด็ก ฉบับเดือนมิถุนายน 2552
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น