วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

เด็กติดเกมส์

               เด็กติดเกมส์


ทำไมเด็กติดเกมส์


ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องบอกว่า ก็เพราะเขาสร้างเกมมาไว้ให้ติด ซึ่งถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะไม่อย่างนั้นเด็กทุกคนที่เล่นเกมส์ก็ต้องติดกันหมด แต่ความจริงเด็กไม่ติดกันทุกคน เด็กติดเกมต่างๆ เหล่านี้ ก็เพราะเนื้อหาเกมเข้าถึงความต้องการสามัญของมนุษย์ มีลักษณะที่ตอบสนองเด็ก ท้าทายให้เอาชนะ ให้ความสนุกสนาน ชวนติดตาม ไม่มีใครแย่งเล่น...

ทุกอย่างในโลกนี้ เมื่อมีข้อเสียก็ต้องมีข้อดีบางอย่างอยู่บ้าง เช่น มีหลายเกมที่ช่วยฝึกการสังเกต ฝึกทักษะความไวในการโต้ตอบ ฝึกไหวพริบ สร้างสรรค์หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆบางเกมทำให้รู้สึกผ่อนคลายหลบจากโลกภายนอก แต่เด็กบางคนที่อยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือตู้เกมทั้งวัน จึงอาจกลายเป็นเด็กที่อยู่แต่กับตัวเองได้เหมือนกัน การเล่นอย่างขาดการควบคุมที่เรียกว่าติดเกมนั้น ส่งผลให้เด็กใช้เวลากับการเล่นเกมส์จนขาดความกระตือรือร้น ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองที่จะทำกิจวัตรประจำวัน และหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน เพราะส่วนใหญ่เมื่อได้เล่นเกมแล้วจะเล่นอย่างหมกมุ่น ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกาย ทั้งเรื่องสายตา ความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมอื่นๆ เด็กบางคนที่อยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือตู้เกมทั้งวัน จึงอาจกลายเป็นเด็กที่อยู่แต่กับตัวเอง ขาดทักษะทางสังคมในการอยู่ร่วมกับคนอื่น เด็กที่ติดเกมหลายคนจะหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ไม่รู้จักแบ่งปันคนอื่น ใจแคบ และหลายคนก้าวร้าวมากขึ้น

ส่วนคุณพ่อคุณแม่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจซื้อเกมให้ลูกเล่น เพราะทนลูกเรียกร้องไม่ไหว หรือกลัวว่าลูกจะไม่ทันเพื่อน หรือเพราะเห็นประโยชน์จากเกมอยู่ไม่น้อย เมื่อซื้อเกมให้ลูกเล่นแล้วก็ต้องคาดคำนึงพฤติกรรมในอนาคตของลูกไว้บ้าง ตลอดจนต้องใส่ใจกำกับดูแลการเล่นของลูกกันตั้งแต่ต้นให้ดีเลยทีเดียว

การดูแลมีจุดสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
ดูแลเวลาเด็กเล่นเกม และดูเกมที่ลูกเลือกเล่น ในประเด็นแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องมีกติกาชัดเจนว่าเล่นเกมได้เวลาไหน นานเท่าไหร่ เช่นจะให้เล่นได้หลังจากทำการบ้านเสร็จแล้ว ไม่เกินครึ่งชั่วโมง กำกับดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลง พร้อมมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ เป็นทางเลือกให้ลูกด้วย อย่าปล่อยให้เด็กเล่นไปเรื่อยๆ หรือใช้วิธีพูดโดยไม่มีท่าทางกำกับอย่างหนักแน่นจริงจังประการที่สองที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้เกมที่ลูกเล่นด้วย พูดคุยกับลูกเรื่องเกมที่เขาสนใจ เลือกเกมที่เป็นกีฬา การผจญภัย หรือเกมในทางสร้างสรรค์อื่นๆ มาเล่นกับลูก

การแก้ไข

ถ้าลูกเล่นเกมจนติดเกมไปแล้ว การแก้ไขก็จะต้องการความมั่นคงจากคุณพ่อแม่มาก ทั้งความมั่นคงทางอารมณ์ และความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เริ่มจากการตกลงกติกากันให้ชัดเจน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องกำกับให้เป็นตามข้อตกลง ในช่วงแรกเด็กจะหงุดหงิด และต่อต้านผู้ใหญ่ เพราะเขาเคยต่อรองได้ผลมาก่อน คุณพ่อและคุณแม่ต้องพยายามอย่าใช้อารมณ์กับลุก ด้วยท่าทีธรรมดา แต่มั่นคงว่า "เราตกลงกันแล้วก็ต้องทำตามที่ตกลง" อย่าเอาแต่พูดบ่นโดยไม่มีท่าทีเอาจริง ในช่วงแรกอาจต้องชักจูงให้ลูกมาสนใจในกิจกรรมอื่น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลากับเขาพอสมควร อย่าท้อถอยหรือพูดประชด เมื่อเด็กเห็นว่าต่อรองไม่ได้ก็จะทำตามในที่สุด

นอกจากนี้ อีกทางเลือกหนึ่งมรการดึงความสนใจของลูกให้ออกห่างจากเกม โยอาจแบ่งการใช้เวลาในวันหยุดของลูกๆ ออกอย่างเป็นกิจลักษณะ ตัวอย่างเช่น ในวันเสาร์ หากิจกรรมอื่นๆที่อยู่ในความสนใจของลูกให้ทำ เช่น ให้ลูกเข้าคอร์สเรียนดนตรี เรียนศิลปะ เต้นรำ เล่นกีฬา เรียนภาษาเพิ่มเติม เข้าค่ายเยาวชน พายามหากิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะสมกับลูกมาให้เขารู้จัก ให้เขาได้เลือกเอง สิ่งที่เด็กได้รับนอกจากเพิ่มทักษะด้านต่างๆ แล้วยังมีเพื่อนมากขึ้น รู้จักเข้าสังคมกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นเดียวกัน การหากิจกรรให้ลูกทำเหล่านี้ จะทำให้ลูกไม่อยู่กับตัวเองมากเกินไป และมีโลกทัศน์กว้างขึ้น วันอาทิตย์สร้างสรรค์กิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว เช่น ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ช่วยคุณพ่อปลูกต้นไม้ ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปปิกนิก ไปเยี่ยมญาติการที่ลูกติดเกมไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย แต่การติดเกมทำให้การเรียนรู้ในชีวิตของเด็กขาดสมดุลไป ดังนั้นยังไม่สายที่คุณพ่อคุณแม่จะร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่ขอย้ำว่าต้องใจเย็นและห้ามใช้อารมณ์เด็ดขาด



โดย พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล
แหล่งที่มา http://www.healthoday.net






เด็กติดเกมส์ แก้ได้ด้วยความเข้าใจ



นับวันปัญหาเรื่องเด็กติดเกมส์ยิ่งทวีความรุนแรง และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสภาพร้านเกมส์แทบไม่ต่างจากแหล่งมั่วสุม ซึ่งจากคำบอกเล่าของวัยรุ่นที่ติดเกมส์งอมแงม หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ร้านเกมส์เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง หรือไม่ก็ยกให้เป็นออฟฟิตที่ต้องขยันเข้ามาทำงานทุกวัน

ขณะที่ฝ่ายบ้านเมืองมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยออกมาควบคุมเข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการในช่วงเวลาก่อน 14.00 น. ของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ยกเว้นวันหยุดราชการ, ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้บริการหลังเวลา 22.00 น. ของทุกวัน, ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์เกินกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน, ห้ามสูบบุหรี่ สารเสพติดทุกชนิด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ให้บริการ, ห้ามให้เล่นการพนัน ทว่าข้อห้ามต่างๆ เหล่านี้แทบไม่มีความหมาย เนื่องจากร้านเกมส์หลายร้านตั้งใจฝ่าฝืนกฎระเบียบ

สิริธรรม โชตินฤมล หรือต้น นักศึกษาของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ผู้ซึ่งคลั่งไคล้เกมส์ออนไลน์ และคลุกคลีอยู่ในแวดวงเกมส์มานาน เปิดเผยถึงสภาพปัญหาของร้านเกมส์ทุกวันนี้ ว่า ร้านเกมส์ปัจจุบันหลายร้านแทบไมต่างจากแหล่งมั่วสุมขนาดย่อมของวัยรุ่น ข้อฎหมายที่ถูกนำมาบังคับใช้ ร้านเกมส์ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง อย่างเช่นห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการก่อนช่วงเวลา 14.00 น. ของวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่ที่ตนเห็นแทบจะทุกร้าน มักจะมีเด็กนักเรียนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาเล่นเกมส์ และยิ่งไปกว่านั้นการห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้บริการหลังเวลา 22.00 น. ของทุกวัน ก็มีการฝ่าฝืน โดยเจ้าของร้านจะปิดหน้าร้านอย่างมิดชิด แต่ภายในร้านเกมส์ก็ยังคับคั่งไปด้วยเด็กติดเกมส์






“เจ้าของร้านจะทำทีเป็นปิดหน้าร้าน เพื่อพรางตำรวจ แล้วปล่อยให้เด็กเล่นเกมส์อยู่ข้างในร้านอย่างปกติต่อไป เด็กที่เล่นเกมส์ภายในร้าน บางคนหนีเรียนมาเล่นตั้งแต่เช้า บางคนมาตอนสาย ดังนั้นที่ห้ามไม่ให้เล่นเกิน 3 ชม. เอาเข้าจริงถ้าเด็กยังไม่เลิก ก็ไม่มีการห้ามอย่างเอาจริงเอาจัง เด็กบางคนถึงกับใส่ชุดนักเรียนเล่น แต่บางร้านก็จะบอกให้เด็กเปลี่ยนชุดก่อน แล้วค่อยเข้ามาเล่นเกมส์”

ความสัมพันธ์ภายในร้านของเด็กติดเกมส์ในปัจจุบัน ต้นบอกว่าส่วนมากจะรู้จักกันง่าย เพราะการเล่นเกมส์บางเกมส์จะมีการท้าแข่งกันในรูปแบบของทีม ภายในร้านเกมส์จึงแทบจะรู้จักกันหมด และเจ้าของร้านก็มักจะให้บริการกับลูกค้าอย่างดี ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น จึงมองร้านเกมส์เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง และถ้าเด็กติดเล่นเกมส์ร้านไหน เด็กก็จะไปเล่นแต่ร้านนั้น ตรงนี้จึงทำให้การแหกกฎเป็นไปตามความต้องการของทั้งคนเล่นและเจ้าของร้าน

ส่วนสาเหตุหลักๆ ของการติดเกมส์ ต้นเล่าว่า ในโลกของไซเบอร์มันแตกต่างจากโลกของความจริง คือใครอยากเป็นอะไร มีหน้าตาแบบไหน ร่ำรวยเท่าไหร่ เก่งกาจแค่ไหน ฯลฯ ก็สามารถทำได้ ซึ่งมันต่างจากโลกแห่งความจริง เนื่องจากความจริงเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ แค่จะไปเรียนหนังสือให้รอดในแต่ละวันยังทำไม่ได้เลย แล้วใครจะมายอมรับเรา

“การติดเกมส์ไม่ต้องมีสาเหตุในการเริ่มต้นมาก ทีแรกแค่เล่นเกมส์ เล่นแล้วเพลิน เล่นแล้วสนุก หลังจากนั้นเมื่อเล่นแพ้ ก็จะคิดว่าทำไมเราทำไม่ได้ ต้องพยายามหนักขึ้นไปอีก เรียกว่านั่งเล่นเกมส์เกือบ 24 ชม. แบบไม่กินไม่นอน ทีนี้ก็จะเริ่มเสพติด ยิ่งเมื่อการพยายามเป็นผลทำให้เราเล่นเก่งขึ้น เกิดการยอมรับ มันจะทำให้เกิดความภูมิใจ คือโลกไซเบอร์มันก็เป็นอีกสังคมหนึ่ง เราสามารถเป็นดาราเป็นคนเก่งมีความสามารถ ไปไหนมาไหนใน sever มีแต่คนรู้จัก แต่ในความจริงมันทำไม่ได้”

"แบงค์" วันชนะ ชัยยันต์ เด็กติดเกมส์อีกรายหนึ่ง ที่เปรียบร้านเกมส์เป็นเหมือนออฟฟิตที่ต้องเข้ามาทำงานทุกวัน เล่าให้ฟังถึงปัญหาของเด็กติดเกมส์ว่า สาเหตุของการติดเกมส์โดยส่วนใหญ่ หลักๆ ก็คือต้องการทำให้สังคมของเด็กเล่นเกมส์ยอมรับว่าเราเก่ง มีความสามารถ จึงทำให้ต้องขยันเล่น ขยันฝึก เด็กติดเกมส์ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยไปเรียน เรียกว่าถ้ามีโอกาสหนีเรียนได้ ก็จะหนีเลย และในการเล่นเกมส์จะมีการแข่งขัน บางแมตท์แข่งกันเป็นทีม โดยจะตั้งทีมขึ้นมาแล้วไปท้าแข่งกับทีมอื่นๆ

“การแข่งเกมส์ออนไลน์แบบเป็นทีม นี่แหละตัวสำคัญ เด็กบางคนเครียดยิ่งกว่าการสอบปลายภาคเสียอีก ทั้งๆ ที่สามารถท้าแข่งได้ตลอด และก่อนแข่งอาจมีการติดปลายเมาส์ คือมีเดิมพันเกิดขึ้น ซึ่งเวลาแข่งบางคนถึงกับใช้อารมณ์ร้องด่าแบบเยาะเย้ย สะใจเวลาทำลายทีมคู่แข่งได้ ที่ผมเห็นบางคนถึงกับลุกขึ้นต่อยตีกันก็มี ผมยังเคยคิดจะเดินไปตบหัวเด็กข้างๆ เลย เพราะเขาเป็นรุ่นน้อง ”

แบงค์ บอกว่า เด็กติดเกมส์ส่วนใหญ่จะดูดบุหรี่จัด เพราะการเล่นเกมส์มันทำให้เครียด บางร้านเจ้าของไม่เข้มงวด แบบว่าเอาใจลูกค้าเต็มที่ ก็สามารถดูดบุหรี่ข้างในได้เลย แต่ถ้าบางร้านเขาห้ามก็จะออกมาดูดกันที่หน้าร้าน

ขณะที่ อาร์ต เจ้าของร้านเกมส์หน้ามหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เล่าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษาทั้งนั้น และตนจะมีความสนิทสนมกับลูกค้าเป็นอย่างดี บางทีก็ยอมรับว่า ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาเล่น ขอเพียงแค่เปลี่ยนชุดนักเรียนก็พอ เนื่องจากตำรวจไม่ค่อยจะกวดขันเท่าใด หรือการเปิดร้านหลัง 4 ทุ่ม ตนก็เพียงปิดประตูหน้าร้านให้มิดชิด ส่วนภายในร้านก็ยังปล่อยให้เล่นตามปกติ

“บางทีเราก็อยากจะปฏิบัติตามกฎที่ออกมา แต่เด็กก็ยังไม่อยากเลิกเล่น ถ้าปิดไปเขาก็ไปเล่นร้านอื่นต่อเหมือนเดิม ก็เลยเอาเป็นว่าปล่อยเลยตามเลย ”

ด้าน สมาน ปรางค์ทอง ผู้ปกครองของเด็กติดเกมส์ เล่าให้ฟังถึงลูกชายที่ติดเกมส์หนักถึงขั้นหนีเรียนไปอยู่ร้านเกมส์ว่า อาจารย์เคยรายงานความประพฤติมาว่าลูกเราไม่เข้าเรียน กำลังจะหมดสิทธิ์สอบ ฟังแล้วก็ตกใจและเสียใจมาก ทั้งที่เขาแต่งตัวไปโรงเรียนทุกวัน พอสืบไปเรื่อยๆ จึงรู้ว่าเขามักจะหนีเรียนมานั่งเล่นเกมส์

“ช่วงแรก ๆ จะลงโทษยังไง ลูกก็ไม่ดีขึ้น ถึงขนาดขังไว้ในห้องก็แล้ว ไม่ให้เงินใช้ก็แล้ว เขาก็ยังปีนหนีออกจากบ้าน มิหนำซ้ำยังแอบขโมยนาฬิกาของแม่ไปขาย เพื่อเอาเงินไปเล่นเกมส์ วันนั้นโกรธมาก แต่พอเขากลับมา ผมกลับมีความคิดชั่วขณะขึ้นมาว่า ดีแล้วที่ลูกยังกลับมา และยังมีชีวิตรอด ตอนนั้นร้องไห้เลย ลูกเห็นคงตกใจมาก เข้ามาถามว่าพ่อเป็นอะไร เลยคุยกับลูกทั้งน้ำตาของความเป็นพ่อ วันนั้นเลยพูดดีๆ ด้วยเหตุผล ต่อรองกันไปมาได้ข้อสรุปว่า จะให้เล่นเกมส์เฉพาะที่บ้านได้แต่ต้องเป็นเวลา หลังจากนั้น รู้สึกว่าเขาจะทำตัวดีขึ้น และที่สำคัญคือไปเรียนจริงๆ ทุกวัน”

อาจารย์ศันสนีย์ สุดประเสริฐ นักวิชการศึกษาพิเศษ 8 สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนคริทร์ ได้บอกถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า ส่วนที่สำคัญคือครอบครัว โดยพ่อแม่ต้องเข้าใจลูก ห้ามโมโห อันดับแรกต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้กับบรรยากาศในครอบครัวก่อน เนื่องจากหากเราดุด่า ทำโทษลูกมาก ลูกจะกลัวเรา บางคนจะรู้สึกเบื่อหน้าพ่อแม่ไปเลย ที่สำคัญต้องคิดตลอดว่า เวลาเข้าบ้านต้องจัดการกับอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยจัดการกับลูก

อย่างเช่น พ่อแม่บางคนเจอหน้าลูกก็จะด่าจนเป็นปกติวิสัย ลองเปลี่ยนใหม่เวลาลูกทำผิด อย่าเพิ่งด่า ให้พูดดีด้วย เมื่อพ่อแม่เปลี่ยนตัวเองได้แล้วลูกก็จะตกใจ ทำให้อย่างน้อยเขาก็จะหยุดคิด หลังจากนั้นจึงคุยกัน และอย่าเพิ่งให้ลูกหยุดเล่นเกมส์ แต่ให้เล่นได้โดยมีข้อตกลงร่วมกัน













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น