วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ทำอย่างไรดี...เมื่อลูกชอบพูดโกหก

   ทำอย่างไรดี...เมื่อลูกชอบพูดโกหก


baby


ทำอย่างไรดี...เมื่อลูกชอบพูดโกหก



คงเป็นเรื่องหนักใจไม่น้อย เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกน้อยที่น่ารักแสนซนแสนดื้อ และร้องไห้งอแงเอาแต่ใจตัวเองบ้างในบางครั้ง มีพฤติกรรมชอบพูดโกหก ไม่ชอบพูดความจริง หรือไปที่ไหนใคร ๆ ก็หาว่าลูกน้อยสุดที่รักเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ปัญหานี้ถ้ามองให้เป็นเรื่องเล็กก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าพฤติกรรมชอบโกหกสะท้อนถึงอาการป่วยทางจิตของลูก ก็คงต้องรีบเยียวยา เพราะถ้าหากโตเป็นผู้ใหญ่จนมีหน้าที่การงานที่ดี หรือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ยังไม่ทิ้งลายชอบเลี้ยงแกะ อาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็กสังคม และประเทศชาติได้



ในประเด็นการพูดโกหกของเด็กนั้น จิตแพทย์ทั่วไปได้ให้ข้อมูลว่า ถ้าหากมองในแง่ดีการโกหกเป็นธรรมชาติของเด็ก เพราะโดยพื้นฐานทางจิตใจของเด็กนั้นจะไม่โหดร้ายเหมือนกับผู้ใหญ่ และการโกหกส่วนใหญ่อาจจะมีเหตุผลบางประการ เช่น เกรงว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด กลัวพ่อแม่จับได้จึงจำเป็นต้องโกหก คุณพ่อคุณแม่จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุด้วยว่า เพราะอะไรลูกจึงไม่ไหวใจคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมานั่งจับผิด เมื่อเวลาลูกหญิงชายกระทำสิ่งที่ไม่สมควรหรือไม่เหมาะสมลงไป หรือมีความรู้สึกด้านลบต่อเด็ก


ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีการลงโทษ เมื่อทราบว่าลูกพูดโกหกนี่เป็นมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ มาตรการดังกล่าวมักใช้ไม่ได้ผล เพราะเด็กจะถูกมองในภาพลบ เป็นเด็กไม่ดีในสายตาและมุมมองของคนรอบข้าง เด็กจะมองตัวเองว่าเป็นคนด้อยค่าได้ และเมื่อเด็กโตขึ้น อาจมีพฤติกรรมอื่นร่วมกับการโกหกอีกหลายอย่าง จนกลายเป็นเด็กมีปัญหาในที่สุด



ขณะที่ลูกวัยรุ่นเอง จิตแพทย์บอกว่า ปัญหาการโกหกส่วนใหญ่มาจากการคบเพื่อน การมีกลุ่มเพื่อนที่อาจจะชักจูงไปทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยถูกต้อง จึงพยายามหาวิธีการหลบหลีกด้วยการโกหก ซึ่งอาจจะจับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือ อาจจะถูกตำหนิดุด่า จนในที่สุดพฤติกรรมเหล่านั้นแทนที่จะหายไป แต่กลับจะยิ่งถูกส่งเสริมให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการถูกตำหนิจะทำให้สถานการณ์ของปัญหาการโกหกแย่ลง ลูกวัยรุ่นจะยิ่งหายไปจากครอบครัวมากขึ้น



สาเหตุที่ลูกวัยรุ่นโกหกเก่ง โกหกบ่อย หรือไม่พูดความจริง หรือพูดกำกวม จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง มักมีสาเหตุอย่างน้อย ๆ 3 อย่างด้วยกันคือ



1. จงใจที่จะไม่พูดความจริง ปิดบังอำพรางความเป็นส่วนตัวของเขาไม่ต้องการให้ใครรู้

2. ไม่กล้าพูดความจริง เพราะกลัวจะถูกตำหนิติเตียน ถูกลดคุณค่าและความภาคภูมิใจของเขา

3. โกหกเป็นนิสัย ไม่รู้สึกผิดใด ๆ ไม่ว่าโกหกเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่



วิธีแก้ไขช่วยเหลือเรื่องนี้มีหลายวิธี และก่อนอื่นจะต้องบอกให้เด็กได้รู้ว่า การพูดโกหกเป็นเรื่องผิดมารยาท ผิดกฎของบ้านและผิดกฎหมาย เป็นมารยาทที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก




วิธีแก้ไขช่วยเหลือตามเหตุ



1. พ่อแม่ควรสร้างความไว้วางใจให้กับลูก เพื่อเวลาที่ลูกทำผิดหรือทำสิ่งไม่ดีลงไป ลูกจะได้กล้าปรึกษา แทนที่ลูกจะกลัวความผิด และใช้วิธีการโกหก


2. ไม่ควรตำหนิหรือดุด่าลูกเมื่อลูกทำความผิด แต่ควรใช้เหตุผลพูดคุยกัน เพราะบางทีการที่เด็กถูกตำหนิ อาจจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมชอบโกหก และบางครั้งพฤติกรรมเหล่านั้นก็อาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น


3. ไม่ควรจับผิดลูกมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ เช่น บางครั้งลูกกลับบ้านดึก แม่ก็จะคอยซักถามจับผิดว่า "ลูกไปไหนมา ไปทำอะไร" ซึ่งบางทีลูกอาจจะแค่ไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน แต่การที่พ่อแม่ซักถามเหมือนไม่ไว้ใจลูก และไต่สวนเหมือนเป็นผู้กระทำความผิด เด็กอาจจะใช้วิธีการโกหกเพื่อให้พ่อแม่หยุดซักถาม เพื่อหลบหลีกสถานการณ์ต่าง ๆ


4. หลีกเลี่ยงการลงโทษเมื่อลูกทำผิดหรือจับโกหกได้ เพราะยังมีทางออกที่ดีกว่าวิธีการลงโทษ เช่น พูดจาเพื่อทำความเข้าใจเพราะการลงโทษเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ส่วนสาเหตุที่แท้จริง อาจเกิดจากเหตุผลบางประการของลูกซึ่งจะต้องทำการพูดคุยกัน ซึ่งถ้าหากเด็กทำผิดแล้วกลัวการถูกทำโทษ เด็กอาจใช้วิธีการโกหก เพื่อให้พ้นความผิดก็ได้ หากปล่อยไว้นาน ๆ ก็จะเริ่มติดเป็นนิสัยไปจนโต


5. พยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ เช่น โรคซึมเศร้า บกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาเรื่องภาษาหรือไม่ และควรทำความเข้าใจกับเด็กเหล่านี้ ซึ่งบางทีการที่เด็กโกหกอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพียงเพราะอาการป่วย ทางที่ดีควรรีบพบจิตแพทย์ เพื่อทำการรักษาอาการทางจิตเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อเด็ก เช่น คิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น


ก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะจนได้รับผลกระทบจากการโกหก พ่อแม่ควรจะเริ่มให้ความสนใจและสร้างเกราะป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะมืออาชีพ


ที่มา ::

ปีที่ 35 ฉบับที่ 499 ธันวาคม 2553

5 ความคิดเห็น:

  1. ปัญหาเด็กชอบพูดโกหก


    สาเหตุที่เด็กวัยเรียนพูดปดอาจเกิดได้จากเด็กกลัวถูกลงโทษ จึงพูดปดเพื่อแก้ตัวให้ตนเองพ้นผิด เช่น แอบขโมยองเพื่อนแต่บอกว่าไม่ได้ขโมย
    เด็กบางคนต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กพูดเรื่องที่ไม่จริง หรือ สร้างเรื่องของตนเองเด่นเหนือคนอื่น เช่น คุยให้เพื่อนฟังว่าปิดเทอมนี้พ่อแม่พาไปเที่ยวต่างประเทศ แต่แท้ที่จริงไม่ได้ไป เช่นนี้เป็นต้น
    หากพ่อแม่พบว่าเด็กพูดปกติก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยเพราะจะเป็นการ สนับสนุนให้เด็กโกหกจนเป็นนิสัย และพ่อแม่ก็ไม่ควรลงโทษรุนแรง เพราะเด็กจะพยายามโกหกอีกเพื่อไม่ให้พ่อแม่จับได้
    เด็กวัยเรียนเข้าใจเหตุเข้าใจผลมากขึ้นแล้ว พ่อแม่จึงควรใช้วิธีพูดคุยในเด็ก โดยใกล้ชิดเด็กให้มากขึ้นรับฟังในสิ่งที่เด็กพูด และอธิบายให้เด็กฟังว่าการโกหกทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ พูดคราวต่อไปคนอื่นก็ไม่รู้ว่าจะพูดจริงหรือพูดปด ควรเชื่อหรือไม่ควร ถ้าเด็กทำผิดควรยอมรับและแก้ไขปรับปรุงตัวเสียใหม่ จะถือได้ว่าเป็นคนที่กล้าหาญ
    นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างของความซื่อสัตย์ พูดให้เด็กหรือสัญญากับเด็กว่า จะทำอย่างไรก็ควรทำตามที่พูดเช่นนั้น จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กด้วย
    หากเด็กปรับปรุงตัวเลิกพูดปดแล้วพ่อแม่อย่าลืมให้คำชมเชย หรือ ให้กำลังใจเด็กด้วยนะคะ เพื่อเด็กจะได้เป็นคนดีมีแต่ความซื่อสัตย์ค่ะ





    .

    ตอบลบ
  2. ปัญหาเด็กชอบพูดโกหก


    สาเหตุที่เด็กวัยเรียนพูดปดอาจเกิดได้จากเด็กกลัวถูกลงโทษ จึงพูดปดเพื่อแก้ตัวให้ตนเองพ้นผิด เช่น แอบขโมยองเพื่อนแต่บอกว่าไม่ได้ขโมย
    เด็กบางคนต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กพูดเรื่องที่ไม่จริง หรือ สร้างเรื่องของตนเองเด่นเหนือคนอื่น เช่น คุยให้เพื่อนฟังว่าปิดเทอมนี้พ่อแม่พาไปเที่ยวต่างประเทศ แต่แท้ที่จริงไม่ได้ไป เช่นนี้เป็นต้น
    หากพ่อแม่พบว่าเด็กพูดปกติก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยเพราะจะเป็นการ สนับสนุนให้เด็กโกหกจนเป็นนิสัย และพ่อแม่ก็ไม่ควรลงโทษรุนแรง เพราะเด็กจะพยายามโกหกอีกเพื่อไม่ให้พ่อแม่จับได้
    เด็กวัยเรียนเข้าใจเหตุเข้าใจผลมากขึ้นแล้ว พ่อแม่จึงควรใช้วิธีพูดคุยในเด็ก โดยใกล้ชิดเด็กให้มากขึ้นรับฟังในสิ่งที่เด็กพูด และอธิบายให้เด็กฟังว่าการโกหกทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ พูดคราวต่อไปคนอื่นก็ไม่รู้ว่าจะพูดจริงหรือพูดปด ควรเชื่อหรือไม่ควร ถ้าเด็กทำผิดควรยอมรับและแก้ไขปรับปรุงตัวเสียใหม่ จะถือได้ว่าเป็นคนที่กล้าหาญ
    นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างของความซื่อสัตย์ พูดให้เด็กหรือสัญญากับเด็กว่า จะทำอย่างไรก็ควรทำตามที่พูดเช่นนั้น จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กด้วย
    หากเด็กปรับปรุงตัวเลิกพูดปดแล้วพ่อแม่อย่าลืมให้คำชมเชย หรือ ให้กำลังใจเด็กด้วยนะคะ เพื่อเด็กจะได้เป็นคนดีมีแต่ความซื่อสัตย์ค่ะ





    .

    ตอบลบ
  3. ทำไมเด็กพูดโกหก



    นฤมล ธีระรังสิกุล
    คณะพยาบาลศาสตร์



    สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง พบกันในรายการ “สุขภาพดีชีวีมีสุข” เวลานี้เหมือนเดิมนะคะ และสำหรับวันนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องทำไมเด็กพูดโกหกโดยเฉพาะเด็กวัย 3-5 ปี เชิญท่านรับฟังได้ค่ะ
    การพูดโกหกหรือพูดปดเป็นเรื่องที่พบได้ในเด็กโดยเฉพาะเด็กวัยก่อนเรียน 3-5 ปี เด็กวัยนี้เป็นวัยช่างเพ้อฝันหรือมีจินตนาการต่างๆ มาก เด็กชอบฟังนิทานเป็นที่สุดและชอบดูทีวี ดังนั้นการพูดจามักเกินความเป็นจริงหรือเล่าเรื่องต่างๆเป็นตุเป็นตะจนผู้ใหญ่มองว่าเป็นการโกหก การพูดโกหกในเด็กวัยก่อนเรียนนับว่าเป็นการพัฒนาด้านความคิดและจริยธรรมแต่เด็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นผู้ชี้แนะสั่งสอนและช่วยเหลือเด็ก ถ้าพบว่าเด็กยังพูดโกหกอยู่เรื่อยๆ จะต้องดูว่าเพราะเหตุใดเด็กโตแล้วยังพูดโกหก
    สาเหตุที่เด็กโกหก
    1. เพราะความเพ้อฝันหรือมีจินตนาการ เด็กจะเล่าเรื่องน่ากลัวที่เกิดขึ้นกับตนเพื่อทำให้รู้สึก คุ้นเคยกับอันตรายนั้น จึงทำให้เด็กพูดเกินความจริงไปบ้าง เช่น “ เดินเที่ยวเขาดินเสือจะเข้ามากินนะ ”
    2. ประสบการณ์ที่เด็กคิดว่าน่ากลัว ตนเองจึงสมมติให้ผู้อื่นรับเคราะห์แทน
    3. เรียกร้องความสนใจโดยคิดว่า สิ่งที่เด็กพูดเกินความจริงนั้นจะทำให้ผู้อื่นสนใจตน
    4. กลัวการถูกทำโทษเพราะถ้าพูดความจริงแล้วจะถูกทำโทษเด็กจึงพูดแก้ตัวให้พ้นผิด
    5. เคยเห็นเด็กอื่นได้รับประโยชน์จากการพูดโกหกหรือพูดไม่จริงจึงลองทำบ้าง
    6. ต้องการให้ผู้อื่นชม หรือโอ้อวดว่าตนเองเก่ง
    7. บางครั้งผู้ใหญ่อาจใช้คำบอกเล่าครึ่งจริงครึ่งไม่จริง ทำให้เด็กคิดว่าเป็นจริง
    8. ผู้ใหญ่บางคนสอนเด็กให้พูดปดต่อหน้าคนอื่น เช่น มีคนมาหาตนแล้ว บอกเด็กให้บอกว่าตนไม่อยู่ทั้งๆที่อยู่ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และเด็กไม่ทราบสาเหตุ เด็กจึงจดจำและปฏิบัติตาม
    ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกของคุณพูดโกหกควรหาสาเหตุให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร ไม่ควรด่วนดุว่าเด็กพูดโกหก จะเป็นการปิดกั้นความคิดเสรีของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรค่อยๆให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่เด็กพูดนั้น ไม่จริงเป็นเพียงความคิดเพ้อฝันเท่านั้น หรือเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ ควรหาทางแก้ไขตามสาเหตุนั้นๆ
    แนวทางแก้ไข
    1. เด็กวัย 3-5 ปี มักสร้างจินตนาการ พ่อแม่ควรแยกแยะให้เด็กได้เข้าใจถึงความจริงและไม่จริง ไม่ควรดุด่าเด็ก
    2. เปลี่ยนท่าทีในการเลี้ยงดูเด็ก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับเด็กให้พูดความจริงเพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว เด็กยังไม่ยอมพูดความจริงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกเคยทำของแตกและคุณแม่เคยเตือนหรือห้ามแล้วแต่ลูกก็ยังทำของแตก และวันนี้ลูกทำแจกันแตกอีก ถ้าคุณแม่พูดว่า “ ลูกทำแจกันของแม่แตกใช่ไหม ” แน่นอนเลยว่าลูกจะต้องปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนทำแตก ทั้งๆที่ในห้องนั้นไม่มีคนอื่นอยู่และคุณแม่เห็นว่าทำแตกแต่ลูกไม่ทราบ ดังนั้นคุณแม่ควรจะพูดด้วยน้ำเสียงปกติว่า “ ลูกทำแจกันใบนี้แตก ลูกจะหาอะไรมาทดแทนได้คะ” การพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กสารภาพและไม่ได้เป็นการเถียงกันกับลูก แต่จะเป็นการทำให้ลูกยอมรับสิ่งที่ทำเองและทำให้ลูกรู้จักรับผิดชอบ
    3. ไม่ควรตีเด็ก หรือดุด่าว่าด็กว่าเป็นเด็กที่ชอบพูดโกหก การพูดว่า “ พ่อแม่บอกตั้งหลายครั้งแล้วไม่ยอมพูดความจริงสักที” สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เด็กเสียใจ เด็กจะรู้สึกเจ็บปวดและอับอาย ควรให้เด็กหาสิ่งมาทดแทน เหมือนดังตัวอย่างในข้อ 2 โดยเด็กบอกให้หักค่าขนมของตน
    3. อย่าตั้งสมญาให้เด็ก เช่น ว่าเป็น “เด็กขี้โกหก” “เด็กขี้ขโมย” จะทำให้เด็กฝังใจและติดตัวเขาไปจนโต
    4. อย่าใจอ่อน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะฝึกวินัยให้ลูก เมื่อลูกพูดโกหก ลูกจะต้องมีการทดแทนแก้ไขสิ่งที่ผิดนั้น คุณแม่ไม่ควรพูดคำว่า “ทีหลังอย่าทำเช่นนี้อีก” เพราะคำพูดเช่นนี้จะไม่ได้ผล และเด็กยังคงทำอีกเช่นเคย
    สิ่งสุดท้าย คือคุณพ่อคุณแม่จะต้องดูว่าชีวิตจริงของลูกนั้นมีความสุขหรือไม่ จึงทำให้ลูกชอบจินตนาการและอยู่ในความเพ้อฝัน ดังนั้นจึงควรให้เวลากับลูก ได้เล่นกับลูก ให้ความรัก ความอบอุ่นและความมั่นคง ขอให้คุณพ่อคุณแม่คิดไว้เสมอว่าลูกจะไม่พูดโกหกหรือพูดปดถ้าลูกมีความสุขใจ พบกันใหม่คราวหน้า สวัสดีค่ะ


    เอกสารอ้างอิง

    คู่มือปัญหาสุขภาพจิตเด็ก ศูนย์สุขวิทยาจิต กระทรวงสาธารณสุข . เด็กพูดปด. http:// www.childthai.org/cic/c133.htm





    .

    ตอบลบ
  4. เด็กพูดโกหก


    เด็กพูดโกหก (Lying)

    เมื่อไรจึงจะเรียกว่า “เด็กโกหก”?
    แม้พฤติกรรมโกหกของเด็ก จะเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่รับไม่ได้ แต่ถ้าเจอลูกโกหก ควรพิจารณาก่อนว่า พฤติกรรมนั้นเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กหรือเปล่า ถ้าพฤติกรรมนั้นเกิดในเด็กเล็กๆ ที่เพิ่งพูดได้ไม่นาน หรือเด็กอายุ 2-3 ขวบ ซึ่งเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจหรือแยกแยะความจริงกับจินตนาการได้อย่างชัดเจน เด็กอาจจะพูดในสิ่งเด็กนึกขึ้นมาโดยไม่ได้ตรวจสอบกับโลกความเป็นจริง ก็ถือเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการ และควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เด็กโกหก”
    แต่ถ้าพฤติกรรมเหล่านั้น เกิดขึ้นในเด็กโต อายุประมาณ 7 ขวบขึ้นไป ซึ่งสามารถเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีแล้ว ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมโกหก แต่ก็เป็นแค่พฤติกรรมหนึ่งที่เด็กแสดงออกมา ความเข้าใจว่าเพราะอะไรเด็กจึงไม่สื่อสารให้ตรงกับความจริงเป็นเรื่องจำเป็นมากกว่าจะตัดสินว่าเป็นเด็กดีหรือเด็กไม่ดี
    ? ทำไมเด็กจึงโกหก
    เด็กบางคนโกหกเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อหลบเลี่ยงการถูกลงโทษเมื่อตนเองทำอะไรผิดพลาด เช่น ไม่ได้ทำการบ้าน หรือทำของเสียหาย
    เด็กบางคนต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กสร้างเรื่องเล่าให้เหนือคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น
    เด็กบางคนโกหกเพื่อหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง หรือเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงกว่ากรณีอื่นๆ พ่อแม่จะต้องประเมินว่าเด็กมีพฤติกรรมเกเรอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น การลักขโมย พฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น หรือละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าเด็กอาจมีโรคทางจิตเวชอย่างอื่นร่วมด้วย

    เด็กโกหกจัดว่าป่วยทางจิตหรือไม่?
    คนเราคงเคยพูดโกหกบ้างบางครั้งตอนเด็กๆ แต่เด็กที่โกหกบ่อยๆมักบ่งชี้ถึงปัญหาทางสุขภาพจิตบางอย่าง ซึ่งอาจยังไม่ถึงขั้นป่วยเป็นโรคใดๆ แต่เราอาจพบโรคทางจิตเวชบางโรคในเด็กกลุ่มนี้คือ
    โรคสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นอาจจะเรียนได้ไม่ดี ไม่ได้ทำการบ้านส่ง เด็กจึงอาจจะโกหกเพื่อให้พ้นความผิด
    โรคพฤติกรรมผิดปกติ (conduct disorder) เด็กอาจจะมีพฤติกรรมลักขโมย ก้าวร้าว เช่น รังแกสัตว์ ชอบเล่นไฟหรือเล่นอะไรรุนแรง ทำร้ายผู้อื่น หนีโรงเรียน หนีออกจากบ้าน ร่วมกับมีพฤติกรรมโกหกหลอกลวง
    ? พ่อแม่ควรจะทำอย่างไรกับเด็กโกหก
    ในกรณีที่เด็กเล็กๆ เล่าเรื่องไปตามความคิดหรือตามจินตนาการของตนเอง พ่อแม่ก็ควรจะบอกเด็กว่า “อันนี้ไม่ใช่นะ” หรือ “อันนี้ไม่ตรงตามความเป็นจริงนะ” และพยายามแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริง อย่าเพิ่งโกรธหรือกังวลไปว่าโตขึ้นจะเป็นเด็กไม่ดี
    ส่วนในกรณีเด็กโตที่โกหก พ่อแม่ก็ต้องแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริง เช่น “สิ่งที่พ่อ(แม่)รู้มามันไม่ใช่อย่างนี้นะ” แล้วค่อยๆสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกอย่างใจเย็น เหตุผลของการที่เด็กไม่พูดจริงอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายก็เป็นได้ เช่น อาจกลัวพ่อแม่เสียใจ อาจโกหกเรื่องการใช้เงินเพราะเอาเงินไปทำเรื่องดีๆบางเรื่อง
    แต่ถ้าเด็กโกหกซ้ำๆ ถือเป็นพฤติกรรมในทางลบอย่างหนึ่ง พ่อแม่ควรจะลงโทษเหมือนพฤติกรรมที่ไม่ดีอื่นๆ ลงโทษไปตามเหตุผล ไม่ใช่ลงโทษตามอารมณ์พ่อแม่ (เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าคนเราควรทำอะไรตามอารมณ์) โดยใช้วิธีการที่ไม่รุนแรง และควรหลีกเลี่ยงการตี การลงโทษนั้นอาจจะมีการลดโทษลงบ้าง แต่ไม่ควรยกเว้นโทษ เด็กจะไม่เรียนรู้การรับผิดชอบ ว่าต้องรับผลของการกระทำที่ตนเลือก
    ส่วนในเด็กที่ทำผิดแล้วมาสารภาพทีหลัง พ่อแม่ต้องเข้าใจ แสดงความชื่นชมที่เด็กทำผิดแล้วมาสารภาพ ถึงแม้ความผิดนั้นจะต้องถูกลงโทษตามปกติ แต่ก็ต้องชมด้วยว่าที่เด็กยอมรับความจริงนั้นเป็นสิ่งที่ดี
    ถ้าผู้ปกครองมีปฎิกิริยาที่รุนแรง เช่น ดูผิดหวังรุนแรง ตำหนิติเตียนยืดยาว หรือโกรธมากแล้วลงโทษรุนแรง แทนที่เด็กจะกลัวไม่ทำอีก อาจยิ่งทำให้โอกาสหน้าเด็กกลับจะต้องปิดบังความจริงมากขึ้น ควรหาทางแสดงให้เด็กเห็นว่า ทางบ้านยอมรับความจริงได้ พูดความจริงแล้วปลอดภัย ไม่โดนอะไร เด็กจะได้สื่อสารความจริง








    .

    ตอบลบ
  5. เติมเต็มความสุขในครอบครัว จะทำอย่างไร : เมื่อลูกโกหก







    “ขวับ ขวับ” “แม่สอนทำไม ไม่จำ...หา” “ใครสอนให้แกโกหก” “ทำไม ไม่พูด...หา” เสียงไม้เรียวที่ทำโทษลูก และคำพูดอีกหลายๆ ประโยคที่ออกมาจากปากคุณแม่ แสดงถึงอารมณ์โกรธ หลังจากที่จับได้ว่าลูกพูดโกหก
    หลังจากเสียงร้องไห้ ที่แสดงถึงความเจ็บปวดของลูกเงียบลง อารมณ์ของคุณแม่เริ่มจะดีขึ้น บรรยากาศของความโหดร้ายผ่านไปได้ระยะหนึ่ง และหลายต่อหลายครั้ง หลังจากเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในครอบครัวสงบลง คนเป็นพ่อแม่ ก็อาจจะถามคำถามกับตัวเองว่า ทำไมการสอนลูกไม่ให้โกหก จึงประสบกับความล้มเหลว ทั้งๆ ที่พยายามสอนลูกตั้งหลายๆ ครั้ง แต่กลับดูเหมือนว่า คำสอนของพ่อแม่ยิ่งแย่ลง คือ ลูกๆ ยังโกหกเหมือนเดิม
    สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็มาจาก พ่อแม่ไม่เข้าใจ สาเหตุ พฤติกรรมของลูก รวมทั้งไม่ทราบวิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสมนั่นเอง
    แพทย์หญิงอังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากโรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า การโกหกของเด็กที่เกิดขึ้นบ่อยๆ นั่นแสดงว่า เด็กๆ กำลังมีปัญหาทางอารมณ์ และเมื่อเด็กๆ โตขึ้นเป็นวัยรุ่น อาจจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย นอกจากการโกหก เช่น การลักขโมย ทำร้ายผู้อื่น ทำลายของสาธารณะ ทำตัวเป็นเด็กเกเร และเมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ก่อปัญหาสังคมในที่สุด
    ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาลูกๆ ที่ชอบพูดโกหก พ่อแม่ ควรตั้งสติ หาความรู้ และพยายามทำความเข้าใจในพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูก
    จากการศึกษาในเรื่องนี้ ทำให้ทราบว่า เด็กที่พูดโกหกมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงอายุ ๒-๖ ขวบ อาจจะพูดโกหก เนื่องจากความคิดของลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ ไม่สมบูรณ์ ลูกยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือความจริง อะไรคือจินตนาการ หรือความคิด ความฝันของตัวเอง เช่น เด็กๆ ดูการ์ตูนในโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือนิทาน เห็นตัวละครเหาะได้ ดำน้ำ ลุยไฟได้ โดยที่ร่างกายไม่เจ็บปวด เด็กๆ เกิดความรู้สึกประทับใจ ฝังใจตัวละครตัวนั้น แล้วบอกพ่อแม่ว่า ตัวเองเหาะได้ หายตัวได้ หรือเด็กเล็กๆ บางคนเกิดความกลัว และอยากเอาชนะความกลัว ก็อาจจะเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังว่า เขาเตะสุนัข หรือชกเพื่อน จนวิ่งหนีไปเลย
    ดังนั้น ถ้าหากลูกๆ ในวัยนี้ พูดอะไร หรือเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง ที่เกินความจริง หรือเป็นเรื่องเหลือเชื่อไปบ้าง พ่อแม่ก็ไม่ควรตำหนิ หรือวิตกกังวลมากจนเกินไป สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ เป็นผู้ฟังที่ดี และพยายามบอกกล่าว แก้ไข ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องให้ลูก ด้วยความอดทน ใจเย็น
    สำหรับเด็กช่วงอายุ ๖ ขวบขึ้นไป ซึ่งสามารถแยกแยะความจริงได้ ค่อนข้างสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากเขาพูดโกหก อาจจะเนื่องมาจาก การหลีกหนีสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ หรือเกรงกลัวไปว่า พ่อแม่จะทำโทษ ถ้าหากพูดความจริง
    สำหรับปัญหาของเด็กในวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เห็นว่า กลุ่มเพื่อนๆ มีความสำคัญมากที่สุดในการดำเนินชีวิต และการร่วมกลุ่มกันทำกิจกรรม ซึ่งบางครั้งกลุ่มเพื่อนๆ อาจจะชักจูงไปทำกิจกรรมที่ พ่อแม่ไม่ชอบ หรือกิจกรรมที่พ่อแม่เคยห้ามปรามไว้แล้ว เมื่อลูกๆ ไปปฏิบัติในกิจกรรมดังกล่าว ก็พยายามหาวิธีการหลบหลีกด้วยการพูดโกหก เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำโทษ หรือไม่ให้พ่อแม่โกรธ หรือเสียใจ
    และเมื่อผู้ปกครอง หรือพ่อแม่จับได้ ลูกๆ ก็จะได้รับการดุด่าว่ากล่าว หรือถูกทำโทษ แทนที่พฤติกรรมดังกล่าวจะหายไป กลับดูเหมือนว่าจะเป็นการส่งเสริมให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
    ดังนั้น วิธีการที่พ่อแม่จะแก้ปัญหาการพูดโกหกของลูก ก็ควรจะกระทำดังต่อไปนี้
    ๑. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกตั้งแต่เล็กๆ เพื่อว่าเวลาเขาทำผิด เขาสามารถพูดคุย
    ปรึกษาพ่อแม่ได้
    ๒. ให้ความไว้วางใจในตัวลูก อย่าคอยจับผิด หรือระแวงลูกมากเกินไป
    ๓. การลงโทษลูก เมื่อเขาพูดโกหกเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ควรหาวิธีการพูดจา
    กันดีๆ พ่อแม่มีอารมณ์ที่สงบ ใจเย็น
    ๔. พ่อแม่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่พูดโกหกให้ลูกๆ เห็นด้วย
    ๕. สังเกต อากัปกริยา พฤติกรรมของลูกๆ ว่า มีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ เช่น การ
    บกพร่องทางสติปัญญา เหม่อลอย ซึมเศร้า ถ้าลูกมีพฤติกรรมดังกล่าวควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์
    ขอขอบคุณแพทย์หญิงอังคณา อัญญมณี ที่มีข้อมูลดีๆ ให้ศึกษา เรียนรู้ เข้าใจ และสามารถนำมาบอกกล่าว เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
    หวังว่า พ่อแม่คงเข้าใจลูกๆ ของท่านมากขึ้น และปัญหาการพูดโกหกของลูก น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ความสงบสุขในครอบครัวก็คงกลับมาเหมือนเดิม






    .

    ตอบลบ