วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

รับมือคำหยาบลูก จากนอกบ้าน

       รับมือคำหยาบลูก จากนอกบ้าน


แม่และเด็ก

ลูกไปเอาคำหยาบแบบนั้นมาจากไหน ทั้ง ๆ ที่ในบ้านก็ไม่มีใครพูดเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มออกนอกบ้านมากขึ้น ได้ไปพบปะผู้คนนอกบ้านมากขึ้น อาจติดคำไม่สุภาพมาจากคนรอบข้างที่ได้พบเจอหรือบางครั้งจากสื่อ เรื่องนี้เรามีวิธีรับมือได้โดยละม่อมมาฝากค่ะ

เด็ก ๆ เหมือนฟองน้ำซึมซับทุกสิ่งได้ว่องไว โดยเฉพาะในวัย 1-3 ปีที่เริ่มหัดพูด กำลังอยู่ในช่วงพูดจาได้คล่องมากขึ้น สามารถสื่อสารตอบโต้ได้ดีขึ้น เป็นวัยกำลังเรียนรู้อำนาจของภาษา เด็กมักจะเลียนแบบคำพูดต่าง ๆ มาโดยไม่รู้ความหมายที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าเป็นถ้อยคำหยาบคาย ดังนั้น เมื่อหนูน้อยวัยกำลังหัดพูดเกิดไปรับคำหยาบคายมาเลียนแบบ คุณพ่อคุณแม่ควรรับมือด้วยความสุภาพ และค่อย ๆ สอนให้ลูกรู้ว่าคำใดไม่ควรพูด ด้วยท่าทีที่จริงจังทว่าอ่อนโยน เพื่อไม่ให้หนูน้อยสูญเสียความมั่นใจในการหัดพูดจาประสาเด็ก

เด็กหัดพูดจากการเลียนแบบ

เด็กอายุ 1-3 ปีเป็นวัยหัดพูด เด็กทุกคนหัดพูดจากการจดจำคำต่าง ๆ ที่ได้ยินบ่อย ๆ เด็กจะค่อย ๆ จำคำศัพท์ต่าง ๆ ไว้ทีละคำ และเมื่อรู้สึกว่าเข้าใจความหมายแล้ว เด็กก็จะทดลองใช้คำพูดนั้น ๆ โดยเลียนแบบการพูดของผู้ใหญ่ อาจเลียนแบบจากคำพูดหรือประโยคที่ได้ยินบ่อย ๆ

สำหรับคำหยาบก็เช่นกัน เด็กไม่รู้หรอกว่าคำใดหยาบหรือเป็นคำที่ไม่สุภาพ เด็กรู้แค่ว่าคำนั้นเป็นคำคำหนึ่ง แต่คำพูดนั้นเมื่อพูดออกไปแล้วมีผลกระทบกับผู้ฟังชัดเจน เช่น เด็กอาจเห็นคนพูดคำหยาบใส่กัน พอพูดคำหยาบแบบเสียงดังแล้วมีคนแสดงปฏิกิริยาโกรธ พูดคำหยาบแล้วอีกฝ่ายที่ฟังอยู่ก็เปลี่ยนสีหน้าและเสียงดังขึ้นมา หรือพูดคำหยาบแล้วคนอื่นทำตามอย่างรวดเร็ว เพราะการพูดคำหยาบเป็นการสื่อสารตอบโต้ที่มีปฏิกิริยาชัดเจนกว่าคำพูดปกติ จึงไม่ต้องแปลกใจหากเด็กจดจำคำหยาบได้เร็วกว่าคำปกติ

วิธีการตอบสนองเมื่อลูกพูดคำหยาบที่ดีที่สุดคือคุณพ่อและคุณแม่อย่าโวยวายให้เป็นเรื่องใหญ่โต แต่ควรพูดกับลูกอย่างชัดเจน และจริงจังว่าคำพูดแบบนี้พูดไม่ได้นะ "พูดแล้วพ่อแม่เสียใจนะคะ" หรืออาจบอกลูกว่า "ถ้าลูกพูดแบบนี้แล้วเพื่อนจะไม่ชอบ และไม่เล่นด้วย" อย่าดุว่าเด็กรุนแรงเพราะอาจทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ และกลายเป็นคนไม่มั่นใจเรื่องการพูดได้

เทคนิคปรับพฤติกรรมพูดคำหยาบ

เด็กเล็กเช่นนี้ยังไม่รู้ว่าคำไหนหยาบหรือไม่หยาบ ดังนั้นเมื่อลูกพูดคำหยาบคุณพ่อคุณแม่ต้องชี้เป็นคำ ๆ ไปว่าคำนี้พูดไม่ได้ และสอนด้วยว่าควรใช้คำใดแทน แล้วให้ลูกหัดพูดตาม เช่น หากลูกพูดคำว่า "ตีน" อาจสอนลูกว่าคำนี้ไม่เพราะ พูดแล้วไม่น่ารักเลย พูดแล้วพ่อแม่ไม่ชอบ ให้พูดคำว่า "เท้า" แทน แล้วสอนให้ลูกพูดตาม

เด็กบางคนอาจพูดคำหยาบเพื่อเรียกร้องความสนใจ เพราะพูดแล้วมีคนหันมาสนใจ พูดแล้วพ่อแม่ตอบสนองอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงสีหน้าตกใจหรือไปจ้ำจี้จ้ำไชดุด่าเด็กหรือลงโทษเด็กรุนแรง จะทำให้ลูกเสียความเชื่อมั่นในตนเอง บางครั้งย้ำคิดแต่คำนั้น และเลิกพูดคำนั้นไม่ได้ ยิ่งพ่อแม่ดุมากยิ่งเลิกพูดไม่ได้

อย่าเผลอหัวเราะชอบใจเมื่อเด็กพูดคำแปลก ๆ ที่เป็นคำหยาบออกมา ยิ่งคนรอบข้างหัวเราะชอบใจ เป็นการเสริมพฤติกรรมให้เด็กพูดอีกเพราะคิดว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว

บางครั้งลูกเรียนรู้ว่าการใช้คำหยาบเป็นการระบายอารมณ์ เพราะเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่หรือจากเด็กอื่นที่เวลาไม่พอใจก็สบถคำหยาบออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้เด็กใช้คำอื่นที่น่าฟังกว่าแทน เช่น เวลาโกรธ ก็ให้พูดว่า "โกรธแล้วนะ" แทน

หากสังเกตว่าลูกพูดคำหยาบเพราะเรียนรู้ว่าคำบางคำ เมื่อพูดแล้วทำให้คนอื่นมีปฏิกิริยาตอบสนองได้มากกว่า เป็นคำที่มีอำนาจสูง สั่งให้คนหยุดทำอะไรหรือทำตามที่บอกได้ เด็กจึงพูดคำนั้นออกมา แล้วคอยจ้องดูปฏิกิริยาของพ่อแม่ สำหรับเด็กเล็ก ๆ การพูดคำหยาบเป็นการทดสอบอำนาจของคำนั้น และเด็กกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจของถ้อยคำ หากรู้ว่าลูกกำลังทดสอบอยู่ คุณพ่อคุณแม่อาจทำเป็นเพิกเฉย ให้เขารู้สึกว่าคำหยาบไม่มีความหมายสำหรับพ่อแม่ แล้วลูกจะเลิกพูดไปเอง เช่น หากลูกเรียกคุณพ่อคุณแม่ด้วยคำหยาบไม่ควรหันไปมอง เด็กจะเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่มีใครสนใจ

อย่าทำให้ลูกเครียด โดยการไปคอยกังวลถามย้ำ คาดคั้นให้ลูกสัญญาว่าจะไม่พูดอีก ย้ำกับลูกแต่เรื่องคำนั้น ๆ และคอยห้ามลูกไม่ให้พูด นั่นเป็นการไปเพิ่มความสนใจในคำนั้นให้แก่ลูกมากขึ้น ทำให้ลูกจดจำและพูดคำนั้นอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งลูกพูดพ่อแม่ยิ่งเครียดว่าทำไมลูกถึงยังพูดคำหยาบไม่ยอมเลิกเสียที หากเคยย้ำและสอนหลายครั้งแล้วลูกก็ยังไม่เลิกพูด อาจเพราะลูกเครียดจนจำแต่คำนั้นไปเอง บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจต้องปล่อยวาง และลองเพิกเฉยกับคำนั้น ลูกจะค่อย ๆ เลิกพูดได้เอง

สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านต้องระวัง ไม่พูดคำหยาบให้เด็กได้ยินเป็นอันขาด เพราะลูกจะไม่เข้าใจส่าทำไมผู้ใหญ่พูดได้ แต่เด็กพูดแล้วกลับถูกลงโทษ อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนไม่มีเหตุผลในอนาคตได้

ลองหาแหล่งที่มาของคำหยาบเหล่านั้น เช่น มาจากการไปเล่นกับเพื่อนบ้านหรือรุ่นพี่ที่มีวัยมากกว่า สอดส่องดูว่าแหล่งของคำหยาบเหล่านี้มาจากไหน พยายามกันลูกจากคนเหล่านั้น หรือหากทำได้ควรพูดคุยทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้าน ผู้ปกครองของเด็กอื่น ๆ ให้ช่วยกันปรับพฤติกรรมพูดคำหยาบของเด็ก ๆ ในละแวกบ้าน เพราะสิ่งแวดล้อมมีผลกับพฤติกรรมของเด็กด้วยเช่นกัน

รายการโทรทัศน์บางรายการก็ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก ควรเลือกดูรายการที่ไม่มีคำสบถหรือคำไม่สุภาพ เพราะช่วงนี้เด็กซึมซับและจดจำคำต่าง ๆ ได้รวดเร็วมาก

การรับมือเรื่องนี้คุณแม่คงต้องใจเย็นและหาทางแก้ให้ถูกจุด แล้วหนูน้อยที่พูดเพราะประจำบ้านก็จะกลับมาในไม่ช้าค่ะ

ที่มา : (modernmom) Growing Up Development 1-3 yr : บุษกร







1 ความคิดเห็น:

  1. วิธีจัดการกับการใช้คำหยาบของลูก





    พ่อแม่บางคนไม่เคยพูดคำหยาบคายให้ลูกได้ยินแม้แต่คำเดียว บางคนเป็นครูบาอาจารย์ มีการศึกษาสูง มีอาชีพที่สังคมยกย่อง แต่อยู่ๆ ลูกก็ด่าคำหยาบๆ ออกมา ฟังแล้วสะดุ้งวาบ หน้าหงายไปเลย

    พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีทางควบคุมคำพูดของลูกได้ตลอดเวลา เพราะไม่ได้อยู่กับเขาตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่ก็สามารถสร้างแบบอย่างที่ดีในการใช้คำพูดให้กับลูกได้ด้วยการไม่พูดคำหยาบเมื่ออยู่กับเขา หรือเมื่อมีเขาอยู่ด้วย กระนั้น เด็กก็อาจจำคำหยาบมาจากทีวี หรือภาพยนตร์ที่เขาดู หรือไม่ก็จดจำมาจากเพื่อนในกลุ่มหรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ฯลฯ

    เราไม่ควรถือว่าเด็กเข้าใจความหมายของคำพูดที่เขาใช้ทุกคำเสมอไป เด็กอาจพูดตามผู้ใหญ่โดยไม่รู้ความหมายของคำนั้นๆ ต้องการเพียงแสดงว่าตัวเขาก็สามารถพูดได้ โดยมากเด็กมักจะใช้คำหยาบ ต่อหน้าผู้ใหญ่ เพื่อทำให้ผู้ใหญ่ตกใจ หรือเป็นการเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่มากกว่า

    ถ้าคุณเข้มงวดกวดขันเรื่องการใช้คำพูดของเขามากเกินไป หรือไม่สนใจเขาเลย คุณก็อาจทำให้เด็กใช้คำหยาบมากขึ้น เพื่อต่อต้านหรือเพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณกำลังทำให้ลูกเห็นว่า คำหยาบมีความสำคัญมากกว่มี่มันเป็นจริง

    เพราะทุกครั้งที่เขาพูดคำหยาบ ดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ทันที จึงกลายเป็นทางออกในการแก้ปัญหาของเด็ก

    วิธีจัดการกับการใช้คำหยาบของลูก คุณอาจบอกเขาอย่างจริงจัวว่า ถ้าเขาขืนใช้คำหยาบต่อไปอีก คุณจะเลิกคุยกับเขา รวมทั้งคนที่คุณรู้จักและนับถือก็จะไม่พูดกับเขาด้วยเช่นกัน

    ถ้าคุณเองใช้คำหยาบเป็นครั้งคราว คุณก็ควรบอกลูกว่า การใช้คำเหล่านั้นไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก บางครั้งคุณอาจยอมให้ลูกสบถสบานในบ้านได้ แต่อย่าให้ไปทำที่อื่นหรือนอกบ้าน หรือให้คนอื่นได้ยิน

    พ่อแม่บางคนไม่พอใจลูกที่พูดคำหยาบ ถึงกับประกาศว่าจะไม่ยอมให้ลูกพูดคำหยาบภายในบ้านเลย ไม่ต้องการให้ลูกพูดให้พ่อแม่ได้ยิน แต่ลูกอาจนำไปพูดนอกบ้านก็ได้

    การยอมให้ลูกใช้คำหยาบภายในบ้านได้ แต่ไม่ให้ใช้ในสถานที่อื่นนอกบ้าน น่าจะเป็นสิ่งที่มีเหตุผลมากกว่า

    แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวพ่อแม่ว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อการที่ลูกของตัวเองพูดคำหยาบ คุณเองพูดคำหยาบด้วยหรือเปล่า คุณมีความรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้

    ทางที่ดีไม่ควรปล่อยให้ลูกพูดคำหยาบกับคนอื่น เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของสุภาพชนแน่ๆ










    .

    ตอบลบ