วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ทำอย่างไร..เมื่อลูกกลายเป็นเด็ก “ก้าวร้าว”

  ทำอย่างไร..เมื่อลูกกลายเป็นเด็ก “ก้าวร้าว”

พ่อแม่อย่านิ่งนอนใจรีบแก้ไขก่อนบานปลาย


เถียงคำไม่ตกฟาก ขว้างปาสิ่งของ พูดจาหยาบคายไม่เคารพผู้อื่น ทุบตี หยิก กัด ผลัก ทำลายสิ่งของหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทารุณกรรมสิ่งมีชีวิตให้บาดเจ็บหรือล้มตาย นี่คือพฤติกรรมส่วนหนึ่งที่เด็กแสดงออกมาถึงความก้าวร้าว และถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกิดความเสียหายทางร่างกาย หรือทำให้ผู้อื่นกระทบกระเทือนจิตใจ โดยที่ พฤติกรรมก้าวร้าว ที่เด็กแสดงออกมาจะถือว่าเป็น ปัญหาก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตรวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อน ครู หรือแม้แต่คนในสังคม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พ.ญ.วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้บอกถึงการกระทำของเด็กที่ก้าวร้าวไว้ว่า เด็กเล็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวจะเห็นได้จากการทำลายสิ่งของหรือทำร้ายตนเองเมื่อโกรธหรือถูกขัดใจ ดื้อ ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ตีน้อง ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็กในวัยเด็กเล็ก แต่ถ้าหากเราปล่อยปละละเลยโดยไม่สอนหรือฝึกทักษะให้เด็กรู้จักวิธีควบคุมอารมณ์และจัดการกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เด็กอาจกลายเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง เป็นพวกอันธพาล ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาสังคมในอนาคต

ที่สำคัญ...ปัญหาเด็กก้าวร้าวในปัจจุบัน มีมากถึง ร้อยละ 29.6 จากเด็กที่อยู่ในกลุ่มสำรวจของกรมสุขภาพจิตได้จัดทำขึ้น โดยมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,732 คน



ความก้าวร้าว ชอบอาละวาด เกิดขึ้นได้ง่ายกับเด็กช่วงอายุ 2-5 ปี เพราะยังเป็นวัยที่ขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเด็กบางคนมีพื้นฐานทางอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก จึงเกิดความคับข้องใจและแสดงออกโดยการอาละวาดได้บ่อย

แล้วคุณพ่อคุณแม่เคยทราบไหมว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกที่น่ารักของคุณกลายเป็นคนก้าวร้าวเพราะอะไร...วันนี้เราจะมาเฉลยให้คุณได้รู้กัน

เริ่มจาก...สาเหตุทางชีวภาพ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะมีพ่อและแม่เป็นคนอารมณ์ร้าย ดุ ก้าวร้าว ฉุนเฉียวง่าย อาละวาดเก่ง เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่คิดอยากจะมีลูกหรือมีลูกแล้ว ควรรู้จักที่จะระงับอารมณ์ของคนตนเองให้ได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลไปถึงลูกที่น่ารักของคุณ คำเตือน!!!...เมื่อไหรพบว่า เด็กแสดงความก้าวร้าวมากๆ และเป็นบ่อย ต้องระวังโรคที่จะเกิดตามมากับเด็กด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหา เด็กสมาธิบกพร่อง ไฮเปอร์แอคทีฟ ออทิสติก หรือร้ายแรงขนาดเป็นโรคสมองพิการได้เลยทีเดียว

ต่อมาเป็นปัญหาทางสภาพจิตใจของเด็ก เพราะว่าเมื่อไรที่เด็กไม่มีความสุข และมีอาการ เศร้า กังวล ขี้ตื่นเต้น ตกใจง่าย หรือมีปัญหาคับข้องใจในเรื่องต่างๆ บ่อย และถูกกดดันเสมอๆ จากพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เด็กหงุดหงิดและอาจแสดงวาจากิริยาก้าวร้าวได้

แต่หลายๆ ครอบครัวก็มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูภายในครอบครัว เพราะพ่อแม่มัวแต่สนใจในเรื่องงาน เรื่องของตัวเองมากจนเกินไปจนลืมที่จะสนใจบุตรหลานของตนเองเอง จึงจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาดูแลทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่มีคนเอาใจใส่ดูแลเพราะพี่เลี้ยงที่จ้างมาปล่อยปละละเลยไม่สนใจ บางครั้งก็มีการลงโทษที่รุนแรงจากพ่อแม่ หรือบ้านก็ตามใจเด็กมากจนเกินไปในทุกๆ เรื่องหากมีใครขัดใจก็จะแสดงก้าวร้าวออกมา โดยที่บางครั้งการแสดงความก้าวร้าวในเด็กนั้น ก็เกิดจากการที่พบเห็นคนในครอบครัวทะเลาะกันแล้วเด็กซึมซับพฤติกรรมนั้นเหล่านั้นมา

ช้าก่อน...อย่าพึ่งคิดว่าปัญหาที่ทำให้เด็กก้าวร้าวนั้นมาจากครอบครัวเสียอย่างเดียวเท่านั้น สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เด็กก้าวร้าวขึ้นเพราะเด็กที่ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอ ที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวรุนแรงโดยที่ไม่มีกิจกรรมอื่นที่เป็นการเคลื่อนไหวทางร่างกายเพื่อคลายเครียด เมื่อดูนานเข้าส่วนใหญ่ก็มักจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวได้ง่าย

ทั้งหมดนี้จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ครูอาจารย์ ตลอดจนผู้เลี้ยงดูในการช่วยเหลือปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้นได้


ซึ่งทำได้ง่ายๆ เพียง...ผู้ใหญ่ต้องหยุดการกระทำอันก้าวร้าวของเด็กโดยทันที และต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพราะเป็นการสอนให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว แต่แก้ไขด้วยการจัดให้เด็กหยุดด้วยวิธีสงบ โดยจับมือรวบตัวเด็กเอาไว้ แล้วบอกสั้นๆ ว่าตีไม่ได้ และของชิ้นนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อปา ในขณะเดียวกัน การพูดว่า แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่เราไม่อนุญาตให้ตีกัน และแม่ก็ไม่อนุญาตให้น้องทำกับหนูเช่นกัน จะเป็นตัวช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกโกรธ และหยุดยั้งการกระทำของเด็กได้ในเวลาเดียวกัน

หรือไม่ก็แนะนำทางออกอื่นให้เด็ก นั้นก็คือเมื่อเด็กโกรธกันขึ้นมา ก็สามารถเดินมาบอกผู้ใหญ่ให้ว่ากล่าวคู่กรณีได้ แต่ตีกันไม่ได้ เด็กจะเรียนรู้ว่า การก้าวร้าวเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แต่เราเข้าใจความรู้สึกเขา และเตรียมทางออกที่เหมาะสมเอาไว้ วิธีนี้ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้จะพบว่าเด็กมีอาการอีกเป็นครั้งคราวเพราะเด็กยังไม่สามารถระงับอารมณ์ตัวเองได้ไม่หมด

ฟัง!!พ่อแม่โปรดทราบ....สิ่งที่ไม่ควรทำที่สุดนั้นก็คือไม่ควรตอบตกลง หรือต่อรองกันในขณะที่เด็กมีอารมณ์หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่จะตอบสนองความต้องการของเขา เฉพาะในช่วงที่อารมณ์สงบ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้นผู้ใหญ่ต้องระวังที่จะไม่มีอารมณ์ตอบโต้เด็ก หรือเอาชนะกัน

แต่หากต้องมีการลงโทษเด็ก...ก็ไม่ควรใช้ความรุนแรง อาจใช้วิธีแยกเด็กอยู่ตามลำพังระยะหนึ่ง โดยมีการสื่อให้เด็กเข้าใจว่า การรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร เมื่อสงบแล้วค่อยมาพูดจากันใหม่ แล้วก็ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตนเอง อย่างเช่น ถ้าเด็กทำร้ายข้าวของจนเลอะเทอะก็ให้เด็กเก็บกวาดการกระทำของตนเองให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กยับยั้งสติ คิดก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไป

สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ...การให้เด็กแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกให้เป็นเรื่องจำเป็น ควรให้เด็กรู้สึกว่าเมื่อเขามีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถพูดออกมาได้อย่างอิสระ อีกทั้งพ่อแม่ต้องให้รางวัลเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้พฤติกรรมนั้นคงอยู่ต่อไป โดยที่รางวัลอาจจะเป็นคำชมเชยเพื่อให้เด็กเกิดกำลังใจที่จะทำพฤติกรรมนั้นๆ อีก เป็นธรรมดาของเด็กทุกคนที่ต้องการได้รับความสนใจจากบุคคลอื่น

เด็กหากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขที่เหมาะสมจะกลายเป็นนิสัยติดตัว กลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตได้ ฉะนั้นพ่อแม่ต้องมีเวลาสนใจลูกอีกสักนิด แล้วช่วยกันปรับเปลี่ยนนิสัยของเด็ก เชื่อเถอะว่า....ลูกที่น่ารักของคุณคนเดิมต้องกลับมาอย่างแน่นอน....



ที่มา : www.thaihealth.or.th









2 ความคิดเห็น:

  1. ปัญหาเด็กก้าวร้าว อาละวาด



    เมื่อไรถึงเรียกว่า ก้าวร้าว อาละวาด

    เด็กแต่ละคนมีการตอบสนองแสดงพฤติกรรม และอารมณ์แตกต่างกัน เมื่อไรเด็กแสดงพฤติกรรมอารมณ์ที่ ทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ หรือ ทำร้ายตนเอง ทั้งการแสดงวาจา หรือท่าทางซึ่งมีผลต่อร่างกาย ทรัพย์สิน ละจิตใจถือว่าเป็นการก้าวร้าว อาละวาด เช่น เด็กขว้างปาของ เจ้าอารมณ์ ทำร้ายสัตว์ ชดต่อยกับเพื่อน

    ก้าวร้าว อาละวาดตามวัย

    ก้าวร้าว อาละวาดแบบนี้เกิดในเด็กเล็กวัย 2-5 ปี ยังเป็นวัยที่พัฒนาการทางอารมณ์ สังคมจะยึดตนเองเป็นหลัก ขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเด็กบางคนมีพื้นเพทางอารมณ์ที่เด็กเลี้ยงยาก ปรับตัวยาก จึงเกิดความขับข้องใจและแสดงออกโดยการอาละวาดได้บ่อย เช่น เด็ก 2 ขวบแย่งของเล่นจากเด็กคนอื่น เด็ก 3 ขวบลงไปนอนอกับพื้นร้องเสียงดัง เพื่อจะได้เล่น ถึงแม้จะเป็นก้าวร้าวตามวัย พ่อแม่ควรที่จะช่วยเหลือปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก

    ก้าวร้าว อาละวาดเพราะภาวะทางสมองและชีวภาพ

    ก้าวร้าวแบบนี้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางชีวภาพ ร่างกาย เมื่อมีความผิดปกติที่รบกวนสมองส่วนที่ควบคุมพฤติกรรม และอารมณ์ ก็จะทำให้เกิดความก้าวร้าว ดังเช่น

    -บกพร่องสารเคมีในสมอง เช่น โรคสมาธิสั้น

    -ความไม่สมบูรณ์ของสมอง เช่น โรคออติสติก บกพร่องทางสติปัญญา
    สมองพิการ ลมชัก

    -สมองถูกกระทบกระเทือน เช่น หลังเป็นไข้สมองอักเสบ

    -ยากระตุ้นสมอง เช่น ยาบ้า

    ลักษณะของความก้าวร้าวในกลุ่มนี้จะเป็นได้ทั้งเริ่มเป็น หรือเป็นมานาน
    แต่จะสังเกตุว่าพฤติกรรมก้าวร้าวจะรุนแรงไม่สมเหตุต่อสิ่งกระตุ้น


    ก้าวร้าว อาละวาดจากสภาวะจิตใจ

    เด็กและวัยรุ่น ที่เครียด กังวลใจ ซึมเศร้าหรือมีความคับข้องใจทางอารมณ์ ขาดความสุขด้วยวุฒิภาวะที่ยังเป็นเด็กอยู่ จึงระบายความรู้สึกโดย ก้าวร้าว อาละวาด ต่อต้าน ไม่สุภาพ โดยมากเด็กจากสาเหตุนี้จะมีอาการทางอารมณอื่นร่วมด้วย เช่น สีหน้าไม่มีความสุข ปรับตัวยากกับเพื่อน ฯลฯ

    ก้าวร้าว อาละวาดจากการเลี้ยงดู

    เด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูตามใจ ขาดกฎเกณฑ์ วินัย ขาดการสอนหรือสื่อความหมาย เมื่อทำความผิดถูกลงโทษหรือเห็นตัวอย่างแก้ปัญหาที่รุนแรงทั้งกายและใจ ถูกยั่วยุอารมณ์บ่อยๆจะทำให้เกิดความก้าวร้าว การเลี้ยงดูจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อการป้องกันและการแก้ไขพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม

    ก้าวร้าวจากสภาวะแวดล้อม

    จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ดูโทรทัศน์นานเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันจะหงุดหงิด ก้าวร้าว ส่วนเด็กที่เห็นภาพรุนแรงทั้งจากชีวิตจริง หรือตามสื่อต่างๆหรทอเกมส์คอมพิวเตอร์จะซึมซับความรุนแรง เสียนแบบเห็นเป็นเรื่องปกติ และแสดงออกด้วยความก้าวร้าวได้

    พ่อแม่ช่วยเหลือเด็กก้าวร้าวได้อย่างไร

    1. ควบคุมอารมณ์อย่าก้าวร้าวตอบ ถือเสียว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้สอนลูก

    2. ถ้าทำร้ายตนเอง ผู้อื่นหรือข้าวของให้หยุดพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยความสงบ หนักแน่น เอาจริงเช่น จับมือเด็กไม่ให้ปาของ หรือตีคนอื่น

    3. ถ้าอาละวาดให้หยุดความสนใจ จนกว่าเด็กสงบ พร้อมสื่อให้เด็กรุว่าพ่อแม่จะเข้ามาหา เมื่อเขาสงบแล้ว

    4. ถ้ารบกวนผู้อื่นให้แยกออกมาอยู่ในมุมสงบ (Time Out) ( 1 นาท ต่อ อายุ 1 ปี ) พร้อมสื่อให้เด็กเข้าใจว่าการรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร แต่เด็กจะกลับเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ได้ เมื่อสงบไม่รบกวนผู้อื่น

    5. พ่อแม่ต้องร่วมแก้ไขด้วยวิธีเดียวกัน ไม่ขัดแย้ง

    6. เมื่อเด็กสงบ รับฟังความรู้สึก ช่วยให้เด็กหาวิธีการที่เหมาะสมในการแสดงออก

    7. การสอนให้บอกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ใช่ตำหนิตัวเด็ก เช่น “แม่รักหนูแต่ไม่ชอบการตีคนอื่น”

    8. ช่วงปกติหมั่นฝึกวินัย ความรับผิดชอบ ร่วมทำกิจกรรมกับลูกหาโอกาสชื่นชมความสามารถ







    .

    ตอบลบ
  2. เด็กก้าวร้าว



    พฤติกรรมขนาดไหนที่ควรมองว่า ก้าวร้าว?


    ก่อนจะพิจารณาว่าเด็กก้าวร้าวหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่าคำว่า “ก้าวร้าว”ในความหมายของบิดามารดา คืออะไร เพราะบางครั้งอาจเป็นเพียงพฤติกรรมของเด็กที่ปกติ เช่น เด็กเถียง หรือ แสดงความคิดเห็น และต้องประเมินว่าความก้าวร้าวนั้นรุนแรงระดับใด เช่น ก้าวร้าวทางคำพูด หรือ ก้าวร้าวทางพฤติกรรม และความก้าวร้าวนั้นส่งผลกระทบโดยตรงกับใครบ้าง เช่น บิดามารดา หรือ บุคคลภายนอก เช่น รังแกเพื่อน หรือ เกิดความขัดแย้งกับครู ซึ่งการประเมินสิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องบรรยายลักษณะอย่างชัดเจนว่าพฤติกรรมเหล่านั้นคืออะไร เพราะนิยามของความก้าวร้าวในแต่ในบุคคลไม่เหมือนกัน

    เด็กก้าวร้าวต่างกับเด็กธรรมดาที่เล่นแรงๆอย่างไร?
    ในการแยกเด็กที่ก้าวร้าวออกจากเด็กที่เล่นรุนแรงตามปกตินั้น ประเด็นสำคัญคือ ควรพิจารณาว่ามีการละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือ ละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือไม่ ถ้ามี ก็จำเป็นจะต้องมีการควบคุมดูแล และสอนให้ทราบว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เหมาะสมและไม่ควรกระทำ ถ้าเด็กยังกระทำจำเป็นจะต้องถูกควบคุมให้หยุด และ เรียนรู้ว่าพฤติกรรมนั้นทำไม่ได้อย่างจริงจัง

    ทำไมเด็กถึงก้าวร้าว?
    เด็กที่ก้าวร้าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวช ซึ่งพบความก้าวร้าวร่วมด้วยได้ เช่น เด็กสมาธิสั้นอาจมีพฤติกรรมที่เล่นรุนแรงและขาดการยั้งคิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้ หรือเด็กอาจจะเป็นโรคเกเร (conduct disorder) ซึ่งมีความก้าวร้าวโดยเจตนาและตั้งใจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือบาดเจ็บ นอกจากนี้โรคทางด้านอารมณ์อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ เช่น เด็กมีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาการซึมเศร้าในเด็กอาจไม่ได้แสดงออกมาในลักษณะเศร้า,หดหู่ หรือเก็บตัว แต่อาจแสดงออกมาในลักษณะหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห และระบายอารมณ์อย่างรุนแรงและส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน

    เด็กก้าวร้าวเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ดี ใช่หรือไม่?
    การเลี้ยงดูของปกครองอาจมีส่วนทำให้เกิดความก้าวร้าวได้ เช่น การเลี้ยงดูที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว การโต้เถียงทะเลาะเบาะแว้งหรือทำร้ายร่างกายกันระหว่างผู้ปกครอง ทำให้เด็กอาจนำไปเป็นแบบอย่าง หรือ ในเด็กที่ถูกทารุณกรรม, ถูกทำร้ายร่างกาย หรือ ถูกลงโทษอย่างรุนแรง เด็กอาจจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ตัวเด็กเองอาจได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง สมองเลยควบคุมการแสดงออกที่รุนแรงได้น้อยลง หรือ เด็กเข้าใจว่าความรุนแรงที่เด็กประสบเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาเช่นเดียวกัน

    จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อเด็กโตขึ้นคงควบคุมตนเองได้ดีขึ้น?
    ปัญหาความก้าวร้าวในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกช่วงทั้งเด็กเล็กเด็กโต พบว่า เด็กที่ก้าวร้าวนั้นมีอายุมากขึ้นก็อาจยิ่งแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้น เช่นใช้อาวุธ หรือ รวมเป็นกลุ่มเป็นแกงค์กับเพื่อนก่อความรุนแรงที่มากขึ้น การหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรกจึงมีความจำเป็นมาก เพราะ ช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และง่ายกว่ามาแก้ไขพฤติกรรมเมื่อโตเป็นวัยรุ่น หรือมีปัญหาเป็นคดีความแล้ว

    จะแก้ไขปัญหาเด็กก้าวร้าวอย่างไร?
    การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจที่มาของปัญหาก่อน เพราะโดยทั่วไปความก้าวร้าวในเด็ก มักเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ควรประเมินเหตุปัจจัยรอบๆด้านว่ามีเหตุใดบ้างที่เกี่ยวข้อง การปรับการเลี้ยงดูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เช่น การที่ผู้ปกครองวางตัวอย่างสงบ ไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม ซึ่งโดยทั่วไปการลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวนั้นไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น โดยเด็กอาจหยุดแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก หรืออาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้ บิดามารดาควรควบคุมสถานการณ์ให้เด็กหยุดความก้าวร้าวนั้นด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด แล้วให้เด็กสงบอารมณ์ของตนเองลง หลังจากที่เด็กสงบแล้ว ควรพูดคุยกับเด็กถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจหรือทำให้แสดงความก้าวร้าวออกมา ให้เด็กได้โอกาสระบายออกเป็นคำพูด และพ่อแม่ได้โอกาสแสดงความเข้าใจ แม้จะไม่เห้นด้วยกับพฤติกรรมนั้น
    ในเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมาก เช่น ในวัยรุ่นที่มีอาวุธ และ บิดามารดาไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ อาจต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมเด็กและอาจจำเป็นต้องเข้ารับการประเมินในโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขอาการก้าวร้าวนั้น ถ้าเป็นจากอาการป่วยทางกาย เช่นเป็นโรคทางสมอง การใช้ยาจะช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้นได้อย่างมาก






    .

    ตอบลบ