วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับการฝึกเด็กใช้ห้องน้ำ

          เคล็ดลับการฝึกเด็กใช้ห้องน้ำ


toilet training



แน่นอนว่าใน การฝึกให้เด็กใช้ห้องน้ำนั้น เป็นสิ่งที่ยุ่งยาก พอสมควร ในช่วงแรกๆ เนื่องจากเด็กยังไม่มีความเคยชิน แต่ถ้าวันไหน เด็กรู้จักการใช้ห้องน้ำ ได้ด้วยตัวเอง ก็จะเป็นประโยชน์ สำหรับคุณแม่เป็นอย่างมาก ในช่วงเวลา ที่เหมาะสมสำหรับ การฝึกเด็กใช้ห้องน้ำ ควรจะฝึกให้เด็ก ใช้ห้องน้ำเมื่อ เด็กมีอายุได้ประมาณ 24 – 27 เดือนขึ้นไป เพราะถ้าช้า หรือเร็วกว่านี้ จะเป็นการยุ่งยาก เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเด็ก เข้าโรงเรียน แล้วยังไม่สามารถ เข้าห้องน้ำได้เอง จะเป็นภาระให้คนอื่นได้



ขั้นตอนการฝึกเด็กใช้ห้องน้ำ ก่อนอื่น ต้องอธิบายให้ลูกน้อยมีความเข้าใจ ถึงการรู้จักใช้ห้องน้ำ ซึ่งจะทำให้เป็นเด็กน่ารัก และต้องบอกให้เขารู้ว่า นั่นไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการสร้าง และฝึกนิสัยการรักความสะอาด การฝึกขั้นพื้นฐานเพื่อให้เด็กรู้จักการ ใช้ห้องน้ำมีดังต่อไปนี้



•การติดตั้งสุขภัณฑ์ห้องน้ำ วางกระโถนไว้ในห้องน้ำ ล่วงหน้าก่อนประมาณ 1 เดือน เป็น การติดตั้งสุขภัณฑ์ห้องน้ำ ก่อนที่จะเริ่มการฝึกให้เด็กใช้ห้องน้ำ โดยบอกกับเด็กว่า เมื่อโตขึ้นกว่านี้จะได้นั่งกระโถนใบนั้น


•ไม่ต้องใส่กางเกงให้เด็ก ในช่วงเวลาที่ฝึกให้เด็กใช้ห้องน้ำ


•การติดตั้งสุขภัณฑ์ห้องน้ำ ในกระโถนที่จะให้เด็กนั่งควรใส่น้ำลงไป เล็กน้อยเพื่อจะได้ทำความสะอาดง่ายขึ้น


•คุณพ่อคุณแม่ต้อง นั่งเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น เช่น คุณแม่นั่งบนชักโครก ก็ให้เด็กนั่งกระโถนไปพร้อมๆ กัน เด็กจะได้เลียนแบบได้




•ในช่วงการฝึกให้เด็กใช้ห้องน้ำ คุณแม่ควรจะหา กางเกงตัวใหญ่ๆ ที่สามารถถอดได้ง่ายสวมใส่ให้กับเด็ก เพื่อความสะดวกในการถอด


•เวลาเดินทางไปไหน ควรจะนำกระโถนติดรถไปด้วย เพื่อเด็กจะได้มีความคุ้นเคย


•การเปิดน้ำแรงๆ ในห้องน้ำ จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากนั่งกระโถนมากขึ้น


•เมื่อเด็กใช้กระโถนได้ดีแล้ว ขั้นต่อไปก็ฝึกให้นั่งชักโครกใหญ่ได้แล้ว โดยให้นั่งเป็นครั้งคราวก่อน ในช่วงแรกอาจจะแกล้งทำให้กระโถนมีความสกปรก แล้วให้เด็กขึ้นไปนั่งบนชักโครกดู เพื่อเป็นการทดสอบ พอเด็กคุ้นเคยค่อย สอนและบอกวิธีการใช้ ให้เด็กรู้จัก เช่น การกดชักโครก จะช่วยทำความสะอาด สิ่งสกปรกได้







ที่มา : นิตยสาร New Parenting












ลูกชอบเถียง ปัญหานี้แก้ยังไงดี…

          ลูกชอบเถียง ปัญหานี้แก้ยังไงดี…


.



…..ลูกๆ ของคุณเป็นกันบ้างมั้ยคะ ชอบเถียง พูดจายอกย้อนตลอดเวลา คุณๆ ทราบมั้ย บางทีอาจมีสาเหตุจากความรู้สึกกลัวในคำขู่เข็ญ หรือคำตำหนิของพ่อแม่ที่เพิ่งพูดกับเขาไว้ก็ได้ เด็กอาจไม่เข้าใจ และไม่รู้ความหมายของสิ่งที่พูดออกไปก็ได้ หรือบางทีลูกอาจเข้าใจดีและตั้งใจที่จะพูดจายอกย้อนใส่เพื่อตอบโต้พ่อแม่ก็ได้ค่ะ



…..เด็กที่มีนิสัยชอบเถียง มักเกิดจากไม่รู้สถานะของตัวเอง และของพ่อแม่ ทำให้เขาไม่ยอมรับในบทบาทอำนาจของคุณ เด็กที่มีลักษณะนี้ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ในการชี้แนะ ว่ากล่าว ตักเตือน ให้เค้าได้รู้จักควบคุมตัวเอง ลูกอาจกำลังทดสอบหรืออาจกำลังส่งสัญญาณให้คุณรู้ว่า มันถึงเวลาแล้วนะ ที่คุณพ่อ คุณแม่จะต้องสอนให้เค้ารู้ถึงขอบเขตของเขา และขอบเขตของพ่อแม่ และนั่นจะเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมลูกจึงไม่ควรพูดจาโต้เถียงกับพ่อแม่อย่างนั้นค่ะ



…..สาเหตุที่ทำให้เด็กชอบพูดย้อนผู้ใหญ่ เช่น เด็กรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และไม่เคยมีใครรับฟังเขา หรือรู้สึกว่าตัวเองสำคัญมากเกินไป และกังวลว่าไม่มีใครอยู่เคียงข้างเค้า บางทีเด็กเค้าอาจจะไม่เข้าใจว่า คำพูดเหล่านั้นของเค้าจะส่งผลอย่างไรกับคนอื่น จึงจำเป็นที่จะต้องมีใครสักคน ช่วยอธิบายให้เค้าเข้าใจ ถึงความรู้สึกของคนที่ถูกย้อนบ้าง…



วิธีที่จะป้องกันไม่ให้ลูกมีนิสัยย้อนคำพูดหรือเถียงคนอื่น มีดังนี้…



….. ถ้าลูกของคุณแสดงอาการ ต่อต้านหรือร้องไห้ คุณควรที่จะรอให้ลูกสงบอารมณ์ตัวเองลงก่อน แล้วจึงค่อยสอนให้ลูกเข้าใจจึงวิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง เค้าอาจต้องการเวลาอยู่เงียบๆ คนเดียวสักพัก หรืออยู่ตามลำพังในห้องของเค้าเอง จากนั้นเมื่อเค้าพร้อมที่ฟังคุณ ให้คุณเข้าไปกอด หรือทำให้ลูกอารมณ์ดีขึ้นค่ะ



….. ต้องแน่ใจก่อนนะคะว่า ถ้าหากเค้ารู้ว่าการพูดจาลักษณะนี้ จะทำให้เค้าไม่ได้รับในสิ่งที่เค้าต้องการ เพราะจะไม่มีใครตอบสนองในสิ่งที่เค้าพูด เช่น “รู้มั้ยว่า เวลาที่หนูพูดย้อนคนอื่นจะไม่มีใครฟังหนู เพราะฉะนั้น หนูจะต้องเปลี่ยนน้ำเสียงใหม่ แม่อยากฟังในสิ่งที่หนูจะพูด ไม่ใช่ใช้น้ำเสียงแบบนี้”



….. แนะนำวิธีที่ดีในการพูด หรือบอกให้คนอื่นเข้าใจเหตุผลของตัวเองกับลูก เช่น “ลูกสามารถที่จะไม่เห็นด้วยกับบางเรื่อง แต่ลูกต้องบอกแม่ว่า เพราะอะไรลูกถึงไม่เห็นด้วย แม่จะได้เข้าใจลูก แต่บางครั้ง แม่อาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ แต่แม่สามารถช่วยอธิบายให้ลูกเข้าใจได้ว่า ทำไมแม่ถึงต้องพูด หรือให้ลูกทำอย่างนั้น”



….. ให้โอกาสลูกได้ขอโทษและแก้ตัวใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าลูกของคุณจะทำผิดมากมายแค่ไหน คุณก็ต้องรู้จักระงับอารมณ์โกรธเอาไว้ แล้วเปลี่ยนเป็นการสอนแทน อย่าได้ใส่อารมณ์กับเค้าเป็นอันขาดค่ะ เพราะเค้าก็จะทำตามแบบคุณเช่นเดียวกัน เช่น “หนูพร้อมที่จะบอกในสิ่งที่หนูต้องการกับแม่ใหม่มั้ย ลองพูดอีกครั้ง ด้วยน้ำเสียงที่ดีกว่าเดิม”

….. ให้แน่ใจว่า ลูกรู้ในสิ่งที่เขาพูดย้อน และรู้ถึงผลที่จะกระทบคนที่ลูกพูดจาย้อนใส่ คุณจะต้องดูก่อนว่า เค้ารู้และเข้าใจหรือไม่ กับสิ่งที่เค้าพูดออกไป เช่น “ลูกรู้มั้ย เวลาที่ลูกใช้น้ำเสียงแบบนั้น กับแม่หรือคนอื่น จะไม่มีใครยอมฟังลูก แล้วลูกรู้มั้ยว่า เวลาที่ลูกมีเรื่องสำคัญที่จะพูดกับเค้า ลูกต้องคิดว่าจะพูดยังไง เค้าถึงยอมฟังลูกพูด”






…..คุณจะต้องใช้หลากหลายวิธีในการสอน หรืออธิบายเค้า บางทีลูกอาจยังไม่เข้าใจ ว่า คำพูดจายอกย้อนหรือการเถียงของเขา จะส่งผลอะไรให้กับใครได้ คุณอาจต้องใช้วิธีสนุกๆ ในการสอนให้ลูกเข้าใจ เช่น ใช้น้ำเสียงติดตลกของตัวการ์ตูนอธิบาย หรือแสดงให้ลูกเห็นว่า วิธีการพูดที่แตกต่างกันจะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างไรบ้าง แต่…!!! คุณจะต้องระมัดระวังด้วยนะคะว่า ลูกเข้าใจจริงๆ ไม่ได้หลงคิดไปว่า คุณกำลังเล่นสนุกอยู่กับเค้า















ทำอย่างไรดี...เมื่อลูกชอบพูดโกหก

   ทำอย่างไรดี...เมื่อลูกชอบพูดโกหก


baby


ทำอย่างไรดี...เมื่อลูกชอบพูดโกหก



คงเป็นเรื่องหนักใจไม่น้อย เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกน้อยที่น่ารักแสนซนแสนดื้อ และร้องไห้งอแงเอาแต่ใจตัวเองบ้างในบางครั้ง มีพฤติกรรมชอบพูดโกหก ไม่ชอบพูดความจริง หรือไปที่ไหนใคร ๆ ก็หาว่าลูกน้อยสุดที่รักเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ปัญหานี้ถ้ามองให้เป็นเรื่องเล็กก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าพฤติกรรมชอบโกหกสะท้อนถึงอาการป่วยทางจิตของลูก ก็คงต้องรีบเยียวยา เพราะถ้าหากโตเป็นผู้ใหญ่จนมีหน้าที่การงานที่ดี หรือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ยังไม่ทิ้งลายชอบเลี้ยงแกะ อาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็กสังคม และประเทศชาติได้



ในประเด็นการพูดโกหกของเด็กนั้น จิตแพทย์ทั่วไปได้ให้ข้อมูลว่า ถ้าหากมองในแง่ดีการโกหกเป็นธรรมชาติของเด็ก เพราะโดยพื้นฐานทางจิตใจของเด็กนั้นจะไม่โหดร้ายเหมือนกับผู้ใหญ่ และการโกหกส่วนใหญ่อาจจะมีเหตุผลบางประการ เช่น เกรงว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด กลัวพ่อแม่จับได้จึงจำเป็นต้องโกหก คุณพ่อคุณแม่จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุด้วยว่า เพราะอะไรลูกจึงไม่ไหวใจคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมานั่งจับผิด เมื่อเวลาลูกหญิงชายกระทำสิ่งที่ไม่สมควรหรือไม่เหมาะสมลงไป หรือมีความรู้สึกด้านลบต่อเด็ก


ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีการลงโทษ เมื่อทราบว่าลูกพูดโกหกนี่เป็นมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ มาตรการดังกล่าวมักใช้ไม่ได้ผล เพราะเด็กจะถูกมองในภาพลบ เป็นเด็กไม่ดีในสายตาและมุมมองของคนรอบข้าง เด็กจะมองตัวเองว่าเป็นคนด้อยค่าได้ และเมื่อเด็กโตขึ้น อาจมีพฤติกรรมอื่นร่วมกับการโกหกอีกหลายอย่าง จนกลายเป็นเด็กมีปัญหาในที่สุด



ขณะที่ลูกวัยรุ่นเอง จิตแพทย์บอกว่า ปัญหาการโกหกส่วนใหญ่มาจากการคบเพื่อน การมีกลุ่มเพื่อนที่อาจจะชักจูงไปทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยถูกต้อง จึงพยายามหาวิธีการหลบหลีกด้วยการโกหก ซึ่งอาจจะจับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือ อาจจะถูกตำหนิดุด่า จนในที่สุดพฤติกรรมเหล่านั้นแทนที่จะหายไป แต่กลับจะยิ่งถูกส่งเสริมให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการถูกตำหนิจะทำให้สถานการณ์ของปัญหาการโกหกแย่ลง ลูกวัยรุ่นจะยิ่งหายไปจากครอบครัวมากขึ้น



สาเหตุที่ลูกวัยรุ่นโกหกเก่ง โกหกบ่อย หรือไม่พูดความจริง หรือพูดกำกวม จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง มักมีสาเหตุอย่างน้อย ๆ 3 อย่างด้วยกันคือ



1. จงใจที่จะไม่พูดความจริง ปิดบังอำพรางความเป็นส่วนตัวของเขาไม่ต้องการให้ใครรู้

2. ไม่กล้าพูดความจริง เพราะกลัวจะถูกตำหนิติเตียน ถูกลดคุณค่าและความภาคภูมิใจของเขา

3. โกหกเป็นนิสัย ไม่รู้สึกผิดใด ๆ ไม่ว่าโกหกเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่



วิธีแก้ไขช่วยเหลือเรื่องนี้มีหลายวิธี และก่อนอื่นจะต้องบอกให้เด็กได้รู้ว่า การพูดโกหกเป็นเรื่องผิดมารยาท ผิดกฎของบ้านและผิดกฎหมาย เป็นมารยาทที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก




วิธีแก้ไขช่วยเหลือตามเหตุ



1. พ่อแม่ควรสร้างความไว้วางใจให้กับลูก เพื่อเวลาที่ลูกทำผิดหรือทำสิ่งไม่ดีลงไป ลูกจะได้กล้าปรึกษา แทนที่ลูกจะกลัวความผิด และใช้วิธีการโกหก


2. ไม่ควรตำหนิหรือดุด่าลูกเมื่อลูกทำความผิด แต่ควรใช้เหตุผลพูดคุยกัน เพราะบางทีการที่เด็กถูกตำหนิ อาจจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมชอบโกหก และบางครั้งพฤติกรรมเหล่านั้นก็อาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น


3. ไม่ควรจับผิดลูกมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ เช่น บางครั้งลูกกลับบ้านดึก แม่ก็จะคอยซักถามจับผิดว่า "ลูกไปไหนมา ไปทำอะไร" ซึ่งบางทีลูกอาจจะแค่ไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน แต่การที่พ่อแม่ซักถามเหมือนไม่ไว้ใจลูก และไต่สวนเหมือนเป็นผู้กระทำความผิด เด็กอาจจะใช้วิธีการโกหกเพื่อให้พ่อแม่หยุดซักถาม เพื่อหลบหลีกสถานการณ์ต่าง ๆ


4. หลีกเลี่ยงการลงโทษเมื่อลูกทำผิดหรือจับโกหกได้ เพราะยังมีทางออกที่ดีกว่าวิธีการลงโทษ เช่น พูดจาเพื่อทำความเข้าใจเพราะการลงโทษเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ส่วนสาเหตุที่แท้จริง อาจเกิดจากเหตุผลบางประการของลูกซึ่งจะต้องทำการพูดคุยกัน ซึ่งถ้าหากเด็กทำผิดแล้วกลัวการถูกทำโทษ เด็กอาจใช้วิธีการโกหก เพื่อให้พ้นความผิดก็ได้ หากปล่อยไว้นาน ๆ ก็จะเริ่มติดเป็นนิสัยไปจนโต


5. พยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ เช่น โรคซึมเศร้า บกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาเรื่องภาษาหรือไม่ และควรทำความเข้าใจกับเด็กเหล่านี้ ซึ่งบางทีการที่เด็กโกหกอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพียงเพราะอาการป่วย ทางที่ดีควรรีบพบจิตแพทย์ เพื่อทำการรักษาอาการทางจิตเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อเด็ก เช่น คิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น


ก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะจนได้รับผลกระทบจากการโกหก พ่อแม่ควรจะเริ่มให้ความสนใจและสร้างเกราะป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะมืออาชีพ


ที่มา ::

ปีที่ 35 ฉบับที่ 499 ธันวาคม 2553

เด็กติดเกมส์

               เด็กติดเกมส์


ทำไมเด็กติดเกมส์


ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องบอกว่า ก็เพราะเขาสร้างเกมมาไว้ให้ติด ซึ่งถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะไม่อย่างนั้นเด็กทุกคนที่เล่นเกมส์ก็ต้องติดกันหมด แต่ความจริงเด็กไม่ติดกันทุกคน เด็กติดเกมต่างๆ เหล่านี้ ก็เพราะเนื้อหาเกมเข้าถึงความต้องการสามัญของมนุษย์ มีลักษณะที่ตอบสนองเด็ก ท้าทายให้เอาชนะ ให้ความสนุกสนาน ชวนติดตาม ไม่มีใครแย่งเล่น...

ทุกอย่างในโลกนี้ เมื่อมีข้อเสียก็ต้องมีข้อดีบางอย่างอยู่บ้าง เช่น มีหลายเกมที่ช่วยฝึกการสังเกต ฝึกทักษะความไวในการโต้ตอบ ฝึกไหวพริบ สร้างสรรค์หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆบางเกมทำให้รู้สึกผ่อนคลายหลบจากโลกภายนอก แต่เด็กบางคนที่อยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือตู้เกมทั้งวัน จึงอาจกลายเป็นเด็กที่อยู่แต่กับตัวเองได้เหมือนกัน การเล่นอย่างขาดการควบคุมที่เรียกว่าติดเกมนั้น ส่งผลให้เด็กใช้เวลากับการเล่นเกมส์จนขาดความกระตือรือร้น ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองที่จะทำกิจวัตรประจำวัน และหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน เพราะส่วนใหญ่เมื่อได้เล่นเกมแล้วจะเล่นอย่างหมกมุ่น ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกาย ทั้งเรื่องสายตา ความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมอื่นๆ เด็กบางคนที่อยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือตู้เกมทั้งวัน จึงอาจกลายเป็นเด็กที่อยู่แต่กับตัวเอง ขาดทักษะทางสังคมในการอยู่ร่วมกับคนอื่น เด็กที่ติดเกมหลายคนจะหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ไม่รู้จักแบ่งปันคนอื่น ใจแคบ และหลายคนก้าวร้าวมากขึ้น

ส่วนคุณพ่อคุณแม่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจซื้อเกมให้ลูกเล่น เพราะทนลูกเรียกร้องไม่ไหว หรือกลัวว่าลูกจะไม่ทันเพื่อน หรือเพราะเห็นประโยชน์จากเกมอยู่ไม่น้อย เมื่อซื้อเกมให้ลูกเล่นแล้วก็ต้องคาดคำนึงพฤติกรรมในอนาคตของลูกไว้บ้าง ตลอดจนต้องใส่ใจกำกับดูแลการเล่นของลูกกันตั้งแต่ต้นให้ดีเลยทีเดียว

การดูแลมีจุดสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
ดูแลเวลาเด็กเล่นเกม และดูเกมที่ลูกเลือกเล่น ในประเด็นแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องมีกติกาชัดเจนว่าเล่นเกมได้เวลาไหน นานเท่าไหร่ เช่นจะให้เล่นได้หลังจากทำการบ้านเสร็จแล้ว ไม่เกินครึ่งชั่วโมง กำกับดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลง พร้อมมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ เป็นทางเลือกให้ลูกด้วย อย่าปล่อยให้เด็กเล่นไปเรื่อยๆ หรือใช้วิธีพูดโดยไม่มีท่าทางกำกับอย่างหนักแน่นจริงจังประการที่สองที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้เกมที่ลูกเล่นด้วย พูดคุยกับลูกเรื่องเกมที่เขาสนใจ เลือกเกมที่เป็นกีฬา การผจญภัย หรือเกมในทางสร้างสรรค์อื่นๆ มาเล่นกับลูก

การแก้ไข

ถ้าลูกเล่นเกมจนติดเกมไปแล้ว การแก้ไขก็จะต้องการความมั่นคงจากคุณพ่อแม่มาก ทั้งความมั่นคงทางอารมณ์ และความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เริ่มจากการตกลงกติกากันให้ชัดเจน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องกำกับให้เป็นตามข้อตกลง ในช่วงแรกเด็กจะหงุดหงิด และต่อต้านผู้ใหญ่ เพราะเขาเคยต่อรองได้ผลมาก่อน คุณพ่อและคุณแม่ต้องพยายามอย่าใช้อารมณ์กับลุก ด้วยท่าทีธรรมดา แต่มั่นคงว่า "เราตกลงกันแล้วก็ต้องทำตามที่ตกลง" อย่าเอาแต่พูดบ่นโดยไม่มีท่าทีเอาจริง ในช่วงแรกอาจต้องชักจูงให้ลูกมาสนใจในกิจกรรมอื่น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลากับเขาพอสมควร อย่าท้อถอยหรือพูดประชด เมื่อเด็กเห็นว่าต่อรองไม่ได้ก็จะทำตามในที่สุด

นอกจากนี้ อีกทางเลือกหนึ่งมรการดึงความสนใจของลูกให้ออกห่างจากเกม โยอาจแบ่งการใช้เวลาในวันหยุดของลูกๆ ออกอย่างเป็นกิจลักษณะ ตัวอย่างเช่น ในวันเสาร์ หากิจกรรมอื่นๆที่อยู่ในความสนใจของลูกให้ทำ เช่น ให้ลูกเข้าคอร์สเรียนดนตรี เรียนศิลปะ เต้นรำ เล่นกีฬา เรียนภาษาเพิ่มเติม เข้าค่ายเยาวชน พายามหากิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะสมกับลูกมาให้เขารู้จัก ให้เขาได้เลือกเอง สิ่งที่เด็กได้รับนอกจากเพิ่มทักษะด้านต่างๆ แล้วยังมีเพื่อนมากขึ้น รู้จักเข้าสังคมกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นเดียวกัน การหากิจกรรให้ลูกทำเหล่านี้ จะทำให้ลูกไม่อยู่กับตัวเองมากเกินไป และมีโลกทัศน์กว้างขึ้น วันอาทิตย์สร้างสรรค์กิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว เช่น ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ช่วยคุณพ่อปลูกต้นไม้ ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปปิกนิก ไปเยี่ยมญาติการที่ลูกติดเกมไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย แต่การติดเกมทำให้การเรียนรู้ในชีวิตของเด็กขาดสมดุลไป ดังนั้นยังไม่สายที่คุณพ่อคุณแม่จะร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่ขอย้ำว่าต้องใจเย็นและห้ามใช้อารมณ์เด็ดขาด



โดย พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล
แหล่งที่มา http://www.healthoday.net






เด็กติดเกมส์ แก้ได้ด้วยความเข้าใจ



นับวันปัญหาเรื่องเด็กติดเกมส์ยิ่งทวีความรุนแรง และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสภาพร้านเกมส์แทบไม่ต่างจากแหล่งมั่วสุม ซึ่งจากคำบอกเล่าของวัยรุ่นที่ติดเกมส์งอมแงม หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ร้านเกมส์เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง หรือไม่ก็ยกให้เป็นออฟฟิตที่ต้องขยันเข้ามาทำงานทุกวัน

ขณะที่ฝ่ายบ้านเมืองมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยออกมาควบคุมเข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการในช่วงเวลาก่อน 14.00 น. ของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ยกเว้นวันหยุดราชการ, ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้บริการหลังเวลา 22.00 น. ของทุกวัน, ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์เกินกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน, ห้ามสูบบุหรี่ สารเสพติดทุกชนิด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ให้บริการ, ห้ามให้เล่นการพนัน ทว่าข้อห้ามต่างๆ เหล่านี้แทบไม่มีความหมาย เนื่องจากร้านเกมส์หลายร้านตั้งใจฝ่าฝืนกฎระเบียบ

สิริธรรม โชตินฤมล หรือต้น นักศึกษาของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ผู้ซึ่งคลั่งไคล้เกมส์ออนไลน์ และคลุกคลีอยู่ในแวดวงเกมส์มานาน เปิดเผยถึงสภาพปัญหาของร้านเกมส์ทุกวันนี้ ว่า ร้านเกมส์ปัจจุบันหลายร้านแทบไมต่างจากแหล่งมั่วสุมขนาดย่อมของวัยรุ่น ข้อฎหมายที่ถูกนำมาบังคับใช้ ร้านเกมส์ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง อย่างเช่นห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการก่อนช่วงเวลา 14.00 น. ของวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่ที่ตนเห็นแทบจะทุกร้าน มักจะมีเด็กนักเรียนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาเล่นเกมส์ และยิ่งไปกว่านั้นการห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้บริการหลังเวลา 22.00 น. ของทุกวัน ก็มีการฝ่าฝืน โดยเจ้าของร้านจะปิดหน้าร้านอย่างมิดชิด แต่ภายในร้านเกมส์ก็ยังคับคั่งไปด้วยเด็กติดเกมส์






“เจ้าของร้านจะทำทีเป็นปิดหน้าร้าน เพื่อพรางตำรวจ แล้วปล่อยให้เด็กเล่นเกมส์อยู่ข้างในร้านอย่างปกติต่อไป เด็กที่เล่นเกมส์ภายในร้าน บางคนหนีเรียนมาเล่นตั้งแต่เช้า บางคนมาตอนสาย ดังนั้นที่ห้ามไม่ให้เล่นเกิน 3 ชม. เอาเข้าจริงถ้าเด็กยังไม่เลิก ก็ไม่มีการห้ามอย่างเอาจริงเอาจัง เด็กบางคนถึงกับใส่ชุดนักเรียนเล่น แต่บางร้านก็จะบอกให้เด็กเปลี่ยนชุดก่อน แล้วค่อยเข้ามาเล่นเกมส์”

ความสัมพันธ์ภายในร้านของเด็กติดเกมส์ในปัจจุบัน ต้นบอกว่าส่วนมากจะรู้จักกันง่าย เพราะการเล่นเกมส์บางเกมส์จะมีการท้าแข่งกันในรูปแบบของทีม ภายในร้านเกมส์จึงแทบจะรู้จักกันหมด และเจ้าของร้านก็มักจะให้บริการกับลูกค้าอย่างดี ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น จึงมองร้านเกมส์เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง และถ้าเด็กติดเล่นเกมส์ร้านไหน เด็กก็จะไปเล่นแต่ร้านนั้น ตรงนี้จึงทำให้การแหกกฎเป็นไปตามความต้องการของทั้งคนเล่นและเจ้าของร้าน

ส่วนสาเหตุหลักๆ ของการติดเกมส์ ต้นเล่าว่า ในโลกของไซเบอร์มันแตกต่างจากโลกของความจริง คือใครอยากเป็นอะไร มีหน้าตาแบบไหน ร่ำรวยเท่าไหร่ เก่งกาจแค่ไหน ฯลฯ ก็สามารถทำได้ ซึ่งมันต่างจากโลกแห่งความจริง เนื่องจากความจริงเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ แค่จะไปเรียนหนังสือให้รอดในแต่ละวันยังทำไม่ได้เลย แล้วใครจะมายอมรับเรา

“การติดเกมส์ไม่ต้องมีสาเหตุในการเริ่มต้นมาก ทีแรกแค่เล่นเกมส์ เล่นแล้วเพลิน เล่นแล้วสนุก หลังจากนั้นเมื่อเล่นแพ้ ก็จะคิดว่าทำไมเราทำไม่ได้ ต้องพยายามหนักขึ้นไปอีก เรียกว่านั่งเล่นเกมส์เกือบ 24 ชม. แบบไม่กินไม่นอน ทีนี้ก็จะเริ่มเสพติด ยิ่งเมื่อการพยายามเป็นผลทำให้เราเล่นเก่งขึ้น เกิดการยอมรับ มันจะทำให้เกิดความภูมิใจ คือโลกไซเบอร์มันก็เป็นอีกสังคมหนึ่ง เราสามารถเป็นดาราเป็นคนเก่งมีความสามารถ ไปไหนมาไหนใน sever มีแต่คนรู้จัก แต่ในความจริงมันทำไม่ได้”

"แบงค์" วันชนะ ชัยยันต์ เด็กติดเกมส์อีกรายหนึ่ง ที่เปรียบร้านเกมส์เป็นเหมือนออฟฟิตที่ต้องเข้ามาทำงานทุกวัน เล่าให้ฟังถึงปัญหาของเด็กติดเกมส์ว่า สาเหตุของการติดเกมส์โดยส่วนใหญ่ หลักๆ ก็คือต้องการทำให้สังคมของเด็กเล่นเกมส์ยอมรับว่าเราเก่ง มีความสามารถ จึงทำให้ต้องขยันเล่น ขยันฝึก เด็กติดเกมส์ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยไปเรียน เรียกว่าถ้ามีโอกาสหนีเรียนได้ ก็จะหนีเลย และในการเล่นเกมส์จะมีการแข่งขัน บางแมตท์แข่งกันเป็นทีม โดยจะตั้งทีมขึ้นมาแล้วไปท้าแข่งกับทีมอื่นๆ

“การแข่งเกมส์ออนไลน์แบบเป็นทีม นี่แหละตัวสำคัญ เด็กบางคนเครียดยิ่งกว่าการสอบปลายภาคเสียอีก ทั้งๆ ที่สามารถท้าแข่งได้ตลอด และก่อนแข่งอาจมีการติดปลายเมาส์ คือมีเดิมพันเกิดขึ้น ซึ่งเวลาแข่งบางคนถึงกับใช้อารมณ์ร้องด่าแบบเยาะเย้ย สะใจเวลาทำลายทีมคู่แข่งได้ ที่ผมเห็นบางคนถึงกับลุกขึ้นต่อยตีกันก็มี ผมยังเคยคิดจะเดินไปตบหัวเด็กข้างๆ เลย เพราะเขาเป็นรุ่นน้อง ”

แบงค์ บอกว่า เด็กติดเกมส์ส่วนใหญ่จะดูดบุหรี่จัด เพราะการเล่นเกมส์มันทำให้เครียด บางร้านเจ้าของไม่เข้มงวด แบบว่าเอาใจลูกค้าเต็มที่ ก็สามารถดูดบุหรี่ข้างในได้เลย แต่ถ้าบางร้านเขาห้ามก็จะออกมาดูดกันที่หน้าร้าน

ขณะที่ อาร์ต เจ้าของร้านเกมส์หน้ามหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เล่าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษาทั้งนั้น และตนจะมีความสนิทสนมกับลูกค้าเป็นอย่างดี บางทีก็ยอมรับว่า ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาเล่น ขอเพียงแค่เปลี่ยนชุดนักเรียนก็พอ เนื่องจากตำรวจไม่ค่อยจะกวดขันเท่าใด หรือการเปิดร้านหลัง 4 ทุ่ม ตนก็เพียงปิดประตูหน้าร้านให้มิดชิด ส่วนภายในร้านก็ยังปล่อยให้เล่นตามปกติ

“บางทีเราก็อยากจะปฏิบัติตามกฎที่ออกมา แต่เด็กก็ยังไม่อยากเลิกเล่น ถ้าปิดไปเขาก็ไปเล่นร้านอื่นต่อเหมือนเดิม ก็เลยเอาเป็นว่าปล่อยเลยตามเลย ”

ด้าน สมาน ปรางค์ทอง ผู้ปกครองของเด็กติดเกมส์ เล่าให้ฟังถึงลูกชายที่ติดเกมส์หนักถึงขั้นหนีเรียนไปอยู่ร้านเกมส์ว่า อาจารย์เคยรายงานความประพฤติมาว่าลูกเราไม่เข้าเรียน กำลังจะหมดสิทธิ์สอบ ฟังแล้วก็ตกใจและเสียใจมาก ทั้งที่เขาแต่งตัวไปโรงเรียนทุกวัน พอสืบไปเรื่อยๆ จึงรู้ว่าเขามักจะหนีเรียนมานั่งเล่นเกมส์

“ช่วงแรก ๆ จะลงโทษยังไง ลูกก็ไม่ดีขึ้น ถึงขนาดขังไว้ในห้องก็แล้ว ไม่ให้เงินใช้ก็แล้ว เขาก็ยังปีนหนีออกจากบ้าน มิหนำซ้ำยังแอบขโมยนาฬิกาของแม่ไปขาย เพื่อเอาเงินไปเล่นเกมส์ วันนั้นโกรธมาก แต่พอเขากลับมา ผมกลับมีความคิดชั่วขณะขึ้นมาว่า ดีแล้วที่ลูกยังกลับมา และยังมีชีวิตรอด ตอนนั้นร้องไห้เลย ลูกเห็นคงตกใจมาก เข้ามาถามว่าพ่อเป็นอะไร เลยคุยกับลูกทั้งน้ำตาของความเป็นพ่อ วันนั้นเลยพูดดีๆ ด้วยเหตุผล ต่อรองกันไปมาได้ข้อสรุปว่า จะให้เล่นเกมส์เฉพาะที่บ้านได้แต่ต้องเป็นเวลา หลังจากนั้น รู้สึกว่าเขาจะทำตัวดีขึ้น และที่สำคัญคือไปเรียนจริงๆ ทุกวัน”

อาจารย์ศันสนีย์ สุดประเสริฐ นักวิชการศึกษาพิเศษ 8 สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนคริทร์ ได้บอกถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า ส่วนที่สำคัญคือครอบครัว โดยพ่อแม่ต้องเข้าใจลูก ห้ามโมโห อันดับแรกต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้กับบรรยากาศในครอบครัวก่อน เนื่องจากหากเราดุด่า ทำโทษลูกมาก ลูกจะกลัวเรา บางคนจะรู้สึกเบื่อหน้าพ่อแม่ไปเลย ที่สำคัญต้องคิดตลอดว่า เวลาเข้าบ้านต้องจัดการกับอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยจัดการกับลูก

อย่างเช่น พ่อแม่บางคนเจอหน้าลูกก็จะด่าจนเป็นปกติวิสัย ลองเปลี่ยนใหม่เวลาลูกทำผิด อย่าเพิ่งด่า ให้พูดดีด้วย เมื่อพ่อแม่เปลี่ยนตัวเองได้แล้วลูกก็จะตกใจ ทำให้อย่างน้อยเขาก็จะหยุดคิด หลังจากนั้นจึงคุยกัน และอย่าเพิ่งให้ลูกหยุดเล่นเกมส์ แต่ให้เล่นได้โดยมีข้อตกลงร่วมกัน













ทำอย่างไร..เมื่อลูกกลายเป็นเด็ก “ก้าวร้าว”

  ทำอย่างไร..เมื่อลูกกลายเป็นเด็ก “ก้าวร้าว”

พ่อแม่อย่านิ่งนอนใจรีบแก้ไขก่อนบานปลาย


เถียงคำไม่ตกฟาก ขว้างปาสิ่งของ พูดจาหยาบคายไม่เคารพผู้อื่น ทุบตี หยิก กัด ผลัก ทำลายสิ่งของหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทารุณกรรมสิ่งมีชีวิตให้บาดเจ็บหรือล้มตาย นี่คือพฤติกรรมส่วนหนึ่งที่เด็กแสดงออกมาถึงความก้าวร้าว และถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกิดความเสียหายทางร่างกาย หรือทำให้ผู้อื่นกระทบกระเทือนจิตใจ โดยที่ พฤติกรรมก้าวร้าว ที่เด็กแสดงออกมาจะถือว่าเป็น ปัญหาก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตรวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อน ครู หรือแม้แต่คนในสังคม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พ.ญ.วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้บอกถึงการกระทำของเด็กที่ก้าวร้าวไว้ว่า เด็กเล็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวจะเห็นได้จากการทำลายสิ่งของหรือทำร้ายตนเองเมื่อโกรธหรือถูกขัดใจ ดื้อ ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ตีน้อง ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็กในวัยเด็กเล็ก แต่ถ้าหากเราปล่อยปละละเลยโดยไม่สอนหรือฝึกทักษะให้เด็กรู้จักวิธีควบคุมอารมณ์และจัดการกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เด็กอาจกลายเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง เป็นพวกอันธพาล ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาสังคมในอนาคต

ที่สำคัญ...ปัญหาเด็กก้าวร้าวในปัจจุบัน มีมากถึง ร้อยละ 29.6 จากเด็กที่อยู่ในกลุ่มสำรวจของกรมสุขภาพจิตได้จัดทำขึ้น โดยมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,732 คน



ความก้าวร้าว ชอบอาละวาด เกิดขึ้นได้ง่ายกับเด็กช่วงอายุ 2-5 ปี เพราะยังเป็นวัยที่ขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเด็กบางคนมีพื้นฐานทางอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก จึงเกิดความคับข้องใจและแสดงออกโดยการอาละวาดได้บ่อย

แล้วคุณพ่อคุณแม่เคยทราบไหมว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกที่น่ารักของคุณกลายเป็นคนก้าวร้าวเพราะอะไร...วันนี้เราจะมาเฉลยให้คุณได้รู้กัน

เริ่มจาก...สาเหตุทางชีวภาพ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะมีพ่อและแม่เป็นคนอารมณ์ร้าย ดุ ก้าวร้าว ฉุนเฉียวง่าย อาละวาดเก่ง เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่คิดอยากจะมีลูกหรือมีลูกแล้ว ควรรู้จักที่จะระงับอารมณ์ของคนตนเองให้ได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลไปถึงลูกที่น่ารักของคุณ คำเตือน!!!...เมื่อไหรพบว่า เด็กแสดงความก้าวร้าวมากๆ และเป็นบ่อย ต้องระวังโรคที่จะเกิดตามมากับเด็กด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหา เด็กสมาธิบกพร่อง ไฮเปอร์แอคทีฟ ออทิสติก หรือร้ายแรงขนาดเป็นโรคสมองพิการได้เลยทีเดียว

ต่อมาเป็นปัญหาทางสภาพจิตใจของเด็ก เพราะว่าเมื่อไรที่เด็กไม่มีความสุข และมีอาการ เศร้า กังวล ขี้ตื่นเต้น ตกใจง่าย หรือมีปัญหาคับข้องใจในเรื่องต่างๆ บ่อย และถูกกดดันเสมอๆ จากพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เด็กหงุดหงิดและอาจแสดงวาจากิริยาก้าวร้าวได้

แต่หลายๆ ครอบครัวก็มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูภายในครอบครัว เพราะพ่อแม่มัวแต่สนใจในเรื่องงาน เรื่องของตัวเองมากจนเกินไปจนลืมที่จะสนใจบุตรหลานของตนเองเอง จึงจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาดูแลทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่มีคนเอาใจใส่ดูแลเพราะพี่เลี้ยงที่จ้างมาปล่อยปละละเลยไม่สนใจ บางครั้งก็มีการลงโทษที่รุนแรงจากพ่อแม่ หรือบ้านก็ตามใจเด็กมากจนเกินไปในทุกๆ เรื่องหากมีใครขัดใจก็จะแสดงก้าวร้าวออกมา โดยที่บางครั้งการแสดงความก้าวร้าวในเด็กนั้น ก็เกิดจากการที่พบเห็นคนในครอบครัวทะเลาะกันแล้วเด็กซึมซับพฤติกรรมนั้นเหล่านั้นมา

ช้าก่อน...อย่าพึ่งคิดว่าปัญหาที่ทำให้เด็กก้าวร้าวนั้นมาจากครอบครัวเสียอย่างเดียวเท่านั้น สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เด็กก้าวร้าวขึ้นเพราะเด็กที่ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอ ที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวรุนแรงโดยที่ไม่มีกิจกรรมอื่นที่เป็นการเคลื่อนไหวทางร่างกายเพื่อคลายเครียด เมื่อดูนานเข้าส่วนใหญ่ก็มักจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวได้ง่าย

ทั้งหมดนี้จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ครูอาจารย์ ตลอดจนผู้เลี้ยงดูในการช่วยเหลือปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้นได้


ซึ่งทำได้ง่ายๆ เพียง...ผู้ใหญ่ต้องหยุดการกระทำอันก้าวร้าวของเด็กโดยทันที และต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพราะเป็นการสอนให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว แต่แก้ไขด้วยการจัดให้เด็กหยุดด้วยวิธีสงบ โดยจับมือรวบตัวเด็กเอาไว้ แล้วบอกสั้นๆ ว่าตีไม่ได้ และของชิ้นนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อปา ในขณะเดียวกัน การพูดว่า แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่เราไม่อนุญาตให้ตีกัน และแม่ก็ไม่อนุญาตให้น้องทำกับหนูเช่นกัน จะเป็นตัวช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกโกรธ และหยุดยั้งการกระทำของเด็กได้ในเวลาเดียวกัน

หรือไม่ก็แนะนำทางออกอื่นให้เด็ก นั้นก็คือเมื่อเด็กโกรธกันขึ้นมา ก็สามารถเดินมาบอกผู้ใหญ่ให้ว่ากล่าวคู่กรณีได้ แต่ตีกันไม่ได้ เด็กจะเรียนรู้ว่า การก้าวร้าวเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แต่เราเข้าใจความรู้สึกเขา และเตรียมทางออกที่เหมาะสมเอาไว้ วิธีนี้ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้จะพบว่าเด็กมีอาการอีกเป็นครั้งคราวเพราะเด็กยังไม่สามารถระงับอารมณ์ตัวเองได้ไม่หมด

ฟัง!!พ่อแม่โปรดทราบ....สิ่งที่ไม่ควรทำที่สุดนั้นก็คือไม่ควรตอบตกลง หรือต่อรองกันในขณะที่เด็กมีอารมณ์หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่จะตอบสนองความต้องการของเขา เฉพาะในช่วงที่อารมณ์สงบ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้นผู้ใหญ่ต้องระวังที่จะไม่มีอารมณ์ตอบโต้เด็ก หรือเอาชนะกัน

แต่หากต้องมีการลงโทษเด็ก...ก็ไม่ควรใช้ความรุนแรง อาจใช้วิธีแยกเด็กอยู่ตามลำพังระยะหนึ่ง โดยมีการสื่อให้เด็กเข้าใจว่า การรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร เมื่อสงบแล้วค่อยมาพูดจากันใหม่ แล้วก็ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตนเอง อย่างเช่น ถ้าเด็กทำร้ายข้าวของจนเลอะเทอะก็ให้เด็กเก็บกวาดการกระทำของตนเองให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กยับยั้งสติ คิดก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไป

สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ...การให้เด็กแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกให้เป็นเรื่องจำเป็น ควรให้เด็กรู้สึกว่าเมื่อเขามีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถพูดออกมาได้อย่างอิสระ อีกทั้งพ่อแม่ต้องให้รางวัลเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้พฤติกรรมนั้นคงอยู่ต่อไป โดยที่รางวัลอาจจะเป็นคำชมเชยเพื่อให้เด็กเกิดกำลังใจที่จะทำพฤติกรรมนั้นๆ อีก เป็นธรรมดาของเด็กทุกคนที่ต้องการได้รับความสนใจจากบุคคลอื่น

เด็กหากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขที่เหมาะสมจะกลายเป็นนิสัยติดตัว กลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตได้ ฉะนั้นพ่อแม่ต้องมีเวลาสนใจลูกอีกสักนิด แล้วช่วยกันปรับเปลี่ยนนิสัยของเด็ก เชื่อเถอะว่า....ลูกที่น่ารักของคุณคนเดิมต้องกลับมาอย่างแน่นอน....



ที่มา : www.thaihealth.or.th









ลูกก้าวร้าว รับมืออย่างไร

           ลูกก้าวร้าว รับมืออย่างไร

พ่อแม่หลายคนต้องรับมือกับลูกที่มีอารมณ์ก้าวร้าว ปัญหาที่หนักสุดคือทำยังไงถึงจะปราบเจ้าตัวน้อยให้อยู่หมัดได้จะใช้ไม้เรียวก็ใช่ที่..เพราะนั่นคือลูกที่รัก... หลายคนหมดหนทางจนต้องปล่อยให้เลยตามเลยไป...สำหรับคนที่ต้องเจอปัญหาแบบนี้ลองมาอ่านบทความนี้ดูเผื่อจะช่วยได้บ้าง...


ลูกก้าวร้าว รับมืออย่างไร

พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก ปัจจุบันเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยซึ่งบางครั้งไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเป็นปัญหาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมุมมองที่แตกต่างกัน ในบางครั้งพฤติกรรมก้าวร้าวก็มีประโยชน์เพื่อช่วยปกป้องเด็กจากสถานการณ์ที่คุกคามหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็กได้

พฤติกรรมก้าวร้าวเป็นได้ทั้งที่กระทำโดยการใช้กำลังทำลายข้าวของ ทำร้ายผู้อื่น หรือการกระทำโดยวาจา ด่าว่าหยาบคาย เสียดสี กระทบกระเทียบ ทำร้ายจิตใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อความรู้สึก ความสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งสิ้น
โดยทั่วไปพฤติกรรมก้าวร้าวจะถือว่าเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นบ่อย และมีความรุนแรง กระทบต่อการดำเนินชีวิตของเด็ก ต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อนหรือครู ซึ่งปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวนี้ หากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขที่เหมาะสม ก็จะกลายเป็นอุปนิสัยติดตัวจนถึงวัยผู้ใหญ่ กลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต ทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นอกจากนี้ถ้าหากจะต้องเป็นพ่อแม่คนและใช้พฤติกรรมก้าวร้าวในการแก้ปัญหาก็จะกลายเป็นแบบอย่างให้เด็กรุ่นลูกดำเนินตาม สร้างปัญหาให้กับคนในรุ่นต่อๆ ไปไม่จบสิ้น
สาเหตุของปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก ขึ้นกับปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ ปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ โครงสร้างทางสมองและระดับของสารเคมีที่ทำหน้าที่นำสัญญาณประสาทในสมอง ซึ่งจะมีผลต่อพื้นอารมณ์ของเด็กแต่ละคนทำให้เป็นคนใจร้อนหรือใจเย็น ส่วนปัจจัยทางด้านจิตใจ ได้แก่ ลักษณะบุคลิกภาพของเด็กที่เกิดจากการเลี้ยงดู ทำให้เกิดมีความมั่นคงทางด้านอารมณ์สูงหรือต่ำ มีความอดทนรอคอยได้มากหรือน้อย หรือเด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยการตามใจเอาแต่ใจตัวเองมักมีปัญหาในด้านนี้
ส่วนปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวอย่างพฤติกรรมก้าวร้าวในครอบครัว ตัวอย่างพฤติกรรมก้าวร้าวผ่านทางสื่อ อาทิเช่น ทีวี วิดีโอเกมส์ หรือภาพยนตร์ นอกจากนี้พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กบางรายยังอาจเกิดจากปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ อาทิเช่น เด็กที่มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ก็จะมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าวได้ง่าย เด็กสมาธิสั้นจะมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป เป็นต้น

การให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ การป้องกันก่อนเกิดปัญหา และการรับมือขณะเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว การป้องกันก่อนเกิดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือ พ่อแม่ต้องทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง ในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ไม่ใช้ความรุนแรงและใช้วิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ การพูดจาที่ดี ท่าทีที่ดี เพราะถ้าหากพ่อแม่ทำไม่ได้ ก็เป็นไปได้ยากที่จะสอนลูกได้สำเร็จ
นอกจากพ่อแม่จะทำได้แล้ว ก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงฝึกให้เด็กรู้ว่าคนเรามีความรู้สึกไม่พอใจได้ แต่ต้องแสดงออกให้เหมาะสม สอนให้เด็กรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักสิทธิ์ของตนเองและเคารพสิทธิ์ผู้อื่น มีทักษะในการควบคุมอารมณ์ตนเอง การสื่อสารด้วยคำพูดถึงอารมณ์ ความรู้สึกไม่พอใจของตนเองออกมา การชะลออารมณ์โกรธ เช่น นับ 1 ถึง 10 การฝึกผ่อนลมหายใจ การให้อภัยไม่ถือโกรธ เป็นต้น
รวมทั้งการชมเด็กเมื่อเด็กสามารถควบคุมตนเองและแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม นอกจากนี้ พ่อแม่ควรจะต้องดูแลสื่อที่เด็กได้รับ อาทิเช่น ทีวี ภาพยนตร์ เกมส์ ควรหลีกเลี่ยงประเภทที่มีเนื้อหาเป็นความก้าวร้าวรุนแรง สำหรับการป้องกันปัญหาที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ก็คือ การทำให้บรรยากาศในบ้านอบอุ่น มีความใกล้ชิดกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เด็กจะมีความอบอุ่นใจ มีความมั่นคงทางจิตใจ การควบคุมอารมณ์ก็จะทำได้ดีขึ้นด้วย
สำหรับการช่วยเหลือขณะเด็กเกิดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่
1. สื่อให้เด็กรู้ว่า ผู้ใหญ่ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของเค้าแต่ไม่ยอมรับพฤติกรรมก้าวร้าว และแนะให้เด็กแสดงออกทางอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น แม่พูดว่า “แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่หนูจะใช้วิธีทำลายข้าวของแบบนี้ไม่ได้ ถ้าหนูโมโหมาก ต้องไประบายอารมณ์ทางอื่นแทน หนูจะขว้างปาหมอน หรือทุบตีตุ๊กตาก็ได้”
2. ถ้าเห็นว่าการกระทำของเด็กรุนแรง มีการทำลายข้าวของ เสียหายหรืออาจเกิดอันตราย ผู้ใหญ่อาจจำเป็นต้องเข้าจัดการทันที โดยการจับเด็กไว้ หรือกอดไว้เพื่อระงับเหตุ
3. ผู้ใหญ่ต้องรับฟังเด็ก ให้โอกาสเด็กอธิบายเล่าเหตุการณ์โดยไม่ด่วนสรุปว่าเขาผิด บางครั้งเด็กต้องการเพียงการรับฟังจากผู้ใหญ่บ้าง

4. เมื่อเด็กสงบ ควรชี้แจงเหตุผลให้เด็กเข้าใจถึงสาเหตุที่ไม่ควรทำ ด้วยคำอธิบายที่กะทัดรัดชัดเจน
5. หลีกเลี่ยงคำพูด คำตำหนิ ที่ทำให้เกิดปมด้อย ถ้อยคำเช่น ว่าเด็กนิสัยไม่ดี เด็กดื้อ เด็กเกเร เด็กก้าวร้าว อันธพาล ถ้าจะตำหนิก็ตำหนิที่การกระทำ เช่น “แม่ไม่ชอบที่หนูเอาไม้ไปขว้างคุณปู่แบบนี้”
6. ให้เด็กรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองกระทำลงไป เช่น เก็บกวาดข้าวของที่เสียหายจากการอาละวาด ขอโทษผู้ใหญ่ งดค่าขนม งดดูทีวีหรือเล่นเกมส์ เป็นต้น

การแก้ไขปรับพฤติกรรมเด็กเป็นงานยาก ต้องใช้ความอดทนพยายามและความสม่ำเสมอ แต่ถ้าทำได้สำเร็จก็ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อย เพราะเราจะได้คนที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทยที่ต้องการความสงบและความสมานฉันท์เช่นในยุคสมัยนี้






ที่มา : โดย นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ (มติชน)

























.

รับมือคำหยาบลูก จากนอกบ้าน

       รับมือคำหยาบลูก จากนอกบ้าน


แม่และเด็ก

ลูกไปเอาคำหยาบแบบนั้นมาจากไหน ทั้ง ๆ ที่ในบ้านก็ไม่มีใครพูดเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มออกนอกบ้านมากขึ้น ได้ไปพบปะผู้คนนอกบ้านมากขึ้น อาจติดคำไม่สุภาพมาจากคนรอบข้างที่ได้พบเจอหรือบางครั้งจากสื่อ เรื่องนี้เรามีวิธีรับมือได้โดยละม่อมมาฝากค่ะ

เด็ก ๆ เหมือนฟองน้ำซึมซับทุกสิ่งได้ว่องไว โดยเฉพาะในวัย 1-3 ปีที่เริ่มหัดพูด กำลังอยู่ในช่วงพูดจาได้คล่องมากขึ้น สามารถสื่อสารตอบโต้ได้ดีขึ้น เป็นวัยกำลังเรียนรู้อำนาจของภาษา เด็กมักจะเลียนแบบคำพูดต่าง ๆ มาโดยไม่รู้ความหมายที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าเป็นถ้อยคำหยาบคาย ดังนั้น เมื่อหนูน้อยวัยกำลังหัดพูดเกิดไปรับคำหยาบคายมาเลียนแบบ คุณพ่อคุณแม่ควรรับมือด้วยความสุภาพ และค่อย ๆ สอนให้ลูกรู้ว่าคำใดไม่ควรพูด ด้วยท่าทีที่จริงจังทว่าอ่อนโยน เพื่อไม่ให้หนูน้อยสูญเสียความมั่นใจในการหัดพูดจาประสาเด็ก

เด็กหัดพูดจากการเลียนแบบ

เด็กอายุ 1-3 ปีเป็นวัยหัดพูด เด็กทุกคนหัดพูดจากการจดจำคำต่าง ๆ ที่ได้ยินบ่อย ๆ เด็กจะค่อย ๆ จำคำศัพท์ต่าง ๆ ไว้ทีละคำ และเมื่อรู้สึกว่าเข้าใจความหมายแล้ว เด็กก็จะทดลองใช้คำพูดนั้น ๆ โดยเลียนแบบการพูดของผู้ใหญ่ อาจเลียนแบบจากคำพูดหรือประโยคที่ได้ยินบ่อย ๆ

สำหรับคำหยาบก็เช่นกัน เด็กไม่รู้หรอกว่าคำใดหยาบหรือเป็นคำที่ไม่สุภาพ เด็กรู้แค่ว่าคำนั้นเป็นคำคำหนึ่ง แต่คำพูดนั้นเมื่อพูดออกไปแล้วมีผลกระทบกับผู้ฟังชัดเจน เช่น เด็กอาจเห็นคนพูดคำหยาบใส่กัน พอพูดคำหยาบแบบเสียงดังแล้วมีคนแสดงปฏิกิริยาโกรธ พูดคำหยาบแล้วอีกฝ่ายที่ฟังอยู่ก็เปลี่ยนสีหน้าและเสียงดังขึ้นมา หรือพูดคำหยาบแล้วคนอื่นทำตามอย่างรวดเร็ว เพราะการพูดคำหยาบเป็นการสื่อสารตอบโต้ที่มีปฏิกิริยาชัดเจนกว่าคำพูดปกติ จึงไม่ต้องแปลกใจหากเด็กจดจำคำหยาบได้เร็วกว่าคำปกติ

วิธีการตอบสนองเมื่อลูกพูดคำหยาบที่ดีที่สุดคือคุณพ่อและคุณแม่อย่าโวยวายให้เป็นเรื่องใหญ่โต แต่ควรพูดกับลูกอย่างชัดเจน และจริงจังว่าคำพูดแบบนี้พูดไม่ได้นะ "พูดแล้วพ่อแม่เสียใจนะคะ" หรืออาจบอกลูกว่า "ถ้าลูกพูดแบบนี้แล้วเพื่อนจะไม่ชอบ และไม่เล่นด้วย" อย่าดุว่าเด็กรุนแรงเพราะอาจทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ และกลายเป็นคนไม่มั่นใจเรื่องการพูดได้

เทคนิคปรับพฤติกรรมพูดคำหยาบ

เด็กเล็กเช่นนี้ยังไม่รู้ว่าคำไหนหยาบหรือไม่หยาบ ดังนั้นเมื่อลูกพูดคำหยาบคุณพ่อคุณแม่ต้องชี้เป็นคำ ๆ ไปว่าคำนี้พูดไม่ได้ และสอนด้วยว่าควรใช้คำใดแทน แล้วให้ลูกหัดพูดตาม เช่น หากลูกพูดคำว่า "ตีน" อาจสอนลูกว่าคำนี้ไม่เพราะ พูดแล้วไม่น่ารักเลย พูดแล้วพ่อแม่ไม่ชอบ ให้พูดคำว่า "เท้า" แทน แล้วสอนให้ลูกพูดตาม

เด็กบางคนอาจพูดคำหยาบเพื่อเรียกร้องความสนใจ เพราะพูดแล้วมีคนหันมาสนใจ พูดแล้วพ่อแม่ตอบสนองอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงสีหน้าตกใจหรือไปจ้ำจี้จ้ำไชดุด่าเด็กหรือลงโทษเด็กรุนแรง จะทำให้ลูกเสียความเชื่อมั่นในตนเอง บางครั้งย้ำคิดแต่คำนั้น และเลิกพูดคำนั้นไม่ได้ ยิ่งพ่อแม่ดุมากยิ่งเลิกพูดไม่ได้

อย่าเผลอหัวเราะชอบใจเมื่อเด็กพูดคำแปลก ๆ ที่เป็นคำหยาบออกมา ยิ่งคนรอบข้างหัวเราะชอบใจ เป็นการเสริมพฤติกรรมให้เด็กพูดอีกเพราะคิดว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว

บางครั้งลูกเรียนรู้ว่าการใช้คำหยาบเป็นการระบายอารมณ์ เพราะเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่หรือจากเด็กอื่นที่เวลาไม่พอใจก็สบถคำหยาบออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้เด็กใช้คำอื่นที่น่าฟังกว่าแทน เช่น เวลาโกรธ ก็ให้พูดว่า "โกรธแล้วนะ" แทน

หากสังเกตว่าลูกพูดคำหยาบเพราะเรียนรู้ว่าคำบางคำ เมื่อพูดแล้วทำให้คนอื่นมีปฏิกิริยาตอบสนองได้มากกว่า เป็นคำที่มีอำนาจสูง สั่งให้คนหยุดทำอะไรหรือทำตามที่บอกได้ เด็กจึงพูดคำนั้นออกมา แล้วคอยจ้องดูปฏิกิริยาของพ่อแม่ สำหรับเด็กเล็ก ๆ การพูดคำหยาบเป็นการทดสอบอำนาจของคำนั้น และเด็กกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจของถ้อยคำ หากรู้ว่าลูกกำลังทดสอบอยู่ คุณพ่อคุณแม่อาจทำเป็นเพิกเฉย ให้เขารู้สึกว่าคำหยาบไม่มีความหมายสำหรับพ่อแม่ แล้วลูกจะเลิกพูดไปเอง เช่น หากลูกเรียกคุณพ่อคุณแม่ด้วยคำหยาบไม่ควรหันไปมอง เด็กจะเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่มีใครสนใจ

อย่าทำให้ลูกเครียด โดยการไปคอยกังวลถามย้ำ คาดคั้นให้ลูกสัญญาว่าจะไม่พูดอีก ย้ำกับลูกแต่เรื่องคำนั้น ๆ และคอยห้ามลูกไม่ให้พูด นั่นเป็นการไปเพิ่มความสนใจในคำนั้นให้แก่ลูกมากขึ้น ทำให้ลูกจดจำและพูดคำนั้นอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งลูกพูดพ่อแม่ยิ่งเครียดว่าทำไมลูกถึงยังพูดคำหยาบไม่ยอมเลิกเสียที หากเคยย้ำและสอนหลายครั้งแล้วลูกก็ยังไม่เลิกพูด อาจเพราะลูกเครียดจนจำแต่คำนั้นไปเอง บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจต้องปล่อยวาง และลองเพิกเฉยกับคำนั้น ลูกจะค่อย ๆ เลิกพูดได้เอง

สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านต้องระวัง ไม่พูดคำหยาบให้เด็กได้ยินเป็นอันขาด เพราะลูกจะไม่เข้าใจส่าทำไมผู้ใหญ่พูดได้ แต่เด็กพูดแล้วกลับถูกลงโทษ อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนไม่มีเหตุผลในอนาคตได้

ลองหาแหล่งที่มาของคำหยาบเหล่านั้น เช่น มาจากการไปเล่นกับเพื่อนบ้านหรือรุ่นพี่ที่มีวัยมากกว่า สอดส่องดูว่าแหล่งของคำหยาบเหล่านี้มาจากไหน พยายามกันลูกจากคนเหล่านั้น หรือหากทำได้ควรพูดคุยทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้าน ผู้ปกครองของเด็กอื่น ๆ ให้ช่วยกันปรับพฤติกรรมพูดคำหยาบของเด็ก ๆ ในละแวกบ้าน เพราะสิ่งแวดล้อมมีผลกับพฤติกรรมของเด็กด้วยเช่นกัน

รายการโทรทัศน์บางรายการก็ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก ควรเลือกดูรายการที่ไม่มีคำสบถหรือคำไม่สุภาพ เพราะช่วงนี้เด็กซึมซับและจดจำคำต่าง ๆ ได้รวดเร็วมาก

การรับมือเรื่องนี้คุณแม่คงต้องใจเย็นและหาทางแก้ให้ถูกจุด แล้วหนูน้อยที่พูดเพราะประจำบ้านก็จะกลับมาในไม่ช้าค่ะ

ที่มา : (modernmom) Growing Up Development 1-3 yr : บุษกร